คลังแก้เกณฑ์อุทธรณ์เร่งส่วนราชการเบิกจ่ายงบลงทุน
คลังสั่งบัญชีกลางผ่อนปรนเงื่อนไขจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน หลังงบประมาณรายจ่ายปี 67 ล่าช้ากว่าปกติถึง 8 เดือน โดยมีแผนให้โครงการที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์สามารถเดินหน้าลงทุนได้ หากเห็นว่า เป็นการอุทธรณ์ที่ไม่มีเหตุผลรองรับที่ดีพอ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางศึกษาความเป็นไปได้ของการ ผ่อนปรนกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ เพื่อหาทางเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกฎหมายงบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ มีความล่าช้ากว่าปกติถึง 8 เดือน
ทั้งนี้ การยกเว้นกฎระเบียบบางเรื่อง เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสามารถเดินหน้าได้เร็วกว่าปกติโดยจะเป็นการแก้ไขกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ให้เฉพาะปีงบประมาณนี้เท่านั้น
เขากล่าวว่า กฎระเบียบข้อหนึ่งที่สั่งการให้กรมบัญชีกลางไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการแก้ไข ให้เฉพาะปีงบประมาณ 2567 คือ ในเรื่องของการอุทธรณ์งานประมูลภาครัฐ ซึ่งตามปกติ เมื่อมีการประมูลงานภาครัฐ บางกรณีผู้ที่แพ้การประมูล อาจสามารถยื่นขออุทธรณ์ต่อกรมบัญชีกลางได้ ซึ่งหากกรณีที่โครงการประมูลนั้นๆ มีเรื่องการอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมบัญชีกลางรับเรื่อง โครงการประมูลนั้น จำเป็นต้องหยุดขั้นตอนต่างๆ กล่าวคือ ไม่สามารถลงนามในสัญญาโครงการได้ ทำให้การลงทุนในโครงการนั้นต้องล่าช้าไปอีกหลายเดือน
ดังนั้น ตนจึงเห็นว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า กรณีคำอุทธรณ์ ที่เมื่อพิจารณาเหตุผลแล้ว ฟังไม่ขึ้น ก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนั้นๆ สามารถเดินหน้าขึ้นตอนการประมูลต่อไปได้เลย เช่น สามารถลงนามในสัญญาโครงการกับภาคเอกชนที่ชนะการประมูล โดยไม่จำเป็นต้องรอผลการพิจารณาอุทธรณ์
“การให้หน่วยงานเจ้าของโครงการมีอำนาจในการพิจารณาเดินหน้าโครงการข้างต้น อาจเป็นข้อกังวลสำหรับหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของโครงการ ว่าอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลัง ดังนั้น จำเป็นต้องมีบทที่คุ้มครองการดำเนินงานของหัวหน้าเจ้าของโครงการนั้นๆด้วย โดยกรมบัญชีกลางจะต้องออกระเบียบเพื่อผ่อนปรนการเดินหน้าโครงการที่มีการอุทธรณ์”
รายงานข่าวจากกรมบัญชีกลางเผยว่า ยอดการอุทธรณ์โครงการลงทุนที่ส่งเข้ามายังกรมบัญชีกลางในขณะนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 272 โครงการต่อเดือน ขณะที่ กรมฯก็ได้เร่งพิจารณาผลการอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จราว210 โครงการ อย่างไรก็ดี การดำเนินการเพื่อลดปริมาณงานอุทธรณ์นั้น กรมฯก็ได้จัดทำหนังสือเวียนเพื่อปรับแบบอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างและแบบรายงานผลการพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อให้การอุทธรณ์และการรายงานผลการอุทธรณ์ของหน่วยงานของรัฐเป็นไปโดยถูกต้อง ครบถ้วนทุกประเด็น
ขณะเดียวกัน ได้จัดทำหนังสือเวียนเพื่อเพิ่มเหตุที่ไม่ต้องส่งเรื่องมายังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน เช่น กรณีไม่มีเหตุผลอันเป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐเป็นไปโดยรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึง แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กรณีเก็บเงินค่าธรรมเนียมอุทธรณ์ เพื่อมิให้เกิดการอุทธรณ์ที่เป็นการประวิงเวลา และผู้ยื่นข้อเสนอใช้สิทธิโดยไม่ชอบ การกระจายอำนาจการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังสำนักงานคลังเขต หรือสำนักงานคลังจังหวัดพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปโดยรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และจัดทำระเบียบอุทธรณ์ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับระบบอุทธรณ์ออนไลน์
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยใช้ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พลางก่อน เริ่มตั้งต้นปีงบประมาณในเดือนต.ค.ถึง ธ.ค.2566 โดยวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม ซึ่งรวมถึงเงินกันเหลื่อมปีจะอยู่ที่ 3.345 ล้านล้านบาท มียอดการเบิกจ่ายไปแล้ว9.63 แสนล้านบาท หรือ 28.81% ของวงเงินรวม
ในจำนวนนี้ เป็นการเบิกจ่ายงบประจำได้จำนวน 8.6 แสนล้านบาท หรือ 34.08% ของประจำรวม 2.52 ล้านล้านบาท งบลงทุนเบิกจ่ายได้ 5.1 หมื่นล้านบาท หรือ 7.69% ของงบลงทุนรวม 6.64 แสนล้านบาทส่วนงบกันเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 5.4 หมื่นล้านบาท หรือ 33.47% ของงบกันเหลื่อมปีรวม 1.6 แสนล้านบาท
สำหรับกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่า ร่างกฎหมายงบประมาณฉบับนี้ น่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณตามปกติ จะต้องเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ของทุกปี ซึ่งหมายความว่างบประมาณฉบับนี้ต้องล่าช้ากว่ากำหนดถึง 8 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กฎหมายงบประมาณปี 2567 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่รัฐบาลก็ยังสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายของปี 2566 ไปพลางก่อนได้ ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลสามารถใช้กฎหมายงบประมาณของปี 2566 ในหมวดรายจ่ายประจำ ประเภทเงินเดือน และรวมถึงรายจ่ายลงทุนที่ได้มีการผูกพันตามสัญญากับภาคเอกชนไว้แล้วได้ แต่โครงการลงทุนใหม่ ไม่สามารถใช้ได้
งบประมาณรายจ่ายปี 2567 กำหนดรายจ่ายไว้ที่ 3.48 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้สุทธิ 2.787 ล้านล้านบาท เป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุล ที่ต้องกู้มาเสริมอีกปีหนึ่งของรัฐบาล โดยรัฐบาลกำหนดกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล รวม 6.93 แสนล้าน ซึ่งวงเงินขาดดุลจำนวนนี้คิดเป็น 19.91 % ของงบประมาณรายจ่าย
ทั้งนี้ ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทย จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมาเกือบตลอดช่วงดังกล่าว มีเพียงปี 2548 และปี 2549 เท่านั้น ที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ สำหรับปีที่รัฐบาลกู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงสุด อยู่ในปีงบประมาณ 2552 และปี 2565 ซึ่งกู้มาชดเชยการขาดดุลสูงถึง 22.6 % ของงบประมาณรายจ่ายในปีนั้น
งบลงทุนที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ 2567 ที่ 7.17แสนล้านบาท คิดเป็น 20.6 % ของงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ งบลงทุนของรัฐบาล นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมานั้น ปีที่มีการกำหนดงบลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายสูงสุด คือปี 2552 ซึ่งกำหนดไว้ถึง 28.3 % และปีที่กำหนดงบลงทุนไว้ต่ำที่สุด คือปี 2553 กำหนดไว้เพียง 12.6 %