นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ใน3 จังหวัด คือ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.)มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ รวม 9,686 ราย เติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็น 19.08% เมื่อเทียบกับปี 65 โดยมีทุนจดทะเบียน 51,310.91 ล้านบาท โดย จ.ชลบุรี การจัดตั้งธุรกิจใหม่มากที่สุดจำนวน 7,370 ราย
โดยประเภทธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,918 ราย ทุนจดทะเบียน 6,692 ล้านบาทธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 654 ราย ทุนจดทะเบียน 1,333ล้านบาทและธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 585 ราย ทุนจดทะเบียน 1,466 ล้านบาท
ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนิติบุคคลคงอยู่ ณ 31 ธ.ค. 2566 จำนวน 85,670 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,705,877.85 ล้านบาท แบ่งเป็นจ.ชลบุรี 61,790 ราย คิดเป็น 72.13% จ.ระยอง 16,460 ราย คิดเป็น 19.21% และ จ.ฉะเชิงเทรา 7,420 รายคิดเป็น 8.66% ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ คิดเป็น 61.02% รองลงมาคือการขายส่งขายปลีก คิดเป็น 24.31% และการผลิตคิดเป็น 14.68%
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทยคิดเป็น 56.68% ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 40.85% รองลงมาคือ จีน มีสัดส่วนคิดเป็น 16.41% และสิงคโปร์มีสัดส่วนคิดเป็น 7.29% โดยมีการลงทุน ในจังหวัดระยองสูงสุดคิดเป็น 51.02%
โดยธุรกิจที่ลงทุนโดยสัญชาติญี่ปุ่นสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์ ผลิตอะลูมีเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และผลิตยางล้อและยางใน ส่วนธุรกิจที่ลงทุนจากจีนสูงสุดอันดับแรกเป็นผลิตยางล้อและยางใน ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า และธุรกิจที่ลงทุนโดยสัญชาติสิงคโปร์ ได้แก่ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลิตยางล้อและยางใน ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์
“ ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซีปี 66 ถือว่าเกินเป้าหมายที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดการณ์ไว้ 7,000-8,000 ราย ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษอีอีซี จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการเดินทางเข้าประเทศไทยที่กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมด้านการซื้อ และการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังมีการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) สะท้อนผ่านโครงการคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาลเอกชน ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”นางอรมน กล่าว
นางอรมน กล่าว่า สำหรับในปี 2567 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นของธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษอีอีซีประมาณ 11,000-12,000 ราย หรือคิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากแนวโน้มการลงทุนที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ที่มีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสอดรับกับการขยายตัวของความเป็นเมืองในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษอีอีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่เป็นพื้นที่ของการจัดตั้งธุรกิจส่วนใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี