'วิกฤติทะเลแดง' ฉุดเศรษฐกิจประเทศพึ่งส่งออก
ภาคเอกชน เผย 'วิกฤติทะเลแดง' ยืดเยื้อ ดันค่าขนส่งพุ่ง จับตากระทบต้นทุนราคาสินค้าไทย โดยเฉพาะปุ๋ย และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป
นายธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป เปิดเผยว่า “กบฏฮูตี” เป็นกองกำลังมุสลิมหัวรุนแรงได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่าน สามารถยึดเมืองหลวง และพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเยเมน ช่วงปลายปีที่แล้ว คุกคามเส้นทางเดินเรือพาณิชย์เพื่อกดดันการขนส่งสินค้าสู่อิสราเอลแต่ผลข้างเคียงกระทบต่อเส้นทางขนส่งทางทะเลของโลก สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรส่งกองเรือรบเข้าไปในพื้นที่มีการถล่มพื้นที่เป้าหมายในเยเมน กระทบไปถึงอิหร่านเข้าแทรกยิงขีปนาวุธเข้าไปชายแดนปากีสถาน-อิรัก-ซีเรีย จนมีการตอบโต้กัน และความรุนแรงอาจบานปลาย
ก่อนหน้านั้นประมาณเดือนต.ค.อิสราเอลส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าถล่มฉนวนกาซาเพื่อกำจัดกลุ่มติดอาวุธฮามาสซึ่งเข้าไปแหย่รังแตนก่อนจนมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 3.0 หมื่นคน เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลแดงจนทำให้สายเรือพาณิชย์ต่างๆ ส่วนใหญ่ยุติการนำเรือขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซโดยเปลี่ยนเส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปกระทบต่อค่าระวางเรือหรือ “Freight Charge” แนวโน้มปรับสูงเฉลี่ย 2 เท่ากระทบต่อต้นทุนการนำเข้าส่งออก และความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของโลกซึ่งมีความเปราะบางเป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว
หากความขัดแย้งยังไม่ยุติ และบานปลายอาจนำไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากทะเลแดง (Red Sea) เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกโดยเรือสินค้าที่ผ่านคลองสุเอซต้องผ่านทะเลแดง คลองสุเอซเป็นเส้นทางเดินเรือเชื่อมสามมหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก
“ทะเลแดง” มีพื้นที่ 4.380 แสนตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ 1.455 เท่าของอ่าวไทย มีความยาว 2,250 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างที่สุด 355 กิโลเมตร ปากทางเข้าด้านมหาสมุทรอินเดียผ่านช่องแคบ “บับ อัล แมนดาป (Bab Al Mandab Strait)” อยู่ระหว่างประเทศดีบูติกับเยเมน เมื่อเข้าไปทะเลแดงต้องผ่านประเทศซูดาน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ และเข้าสู่คลองสุเอซ “Suez Canal” ระยะทางประมาณ 193.3 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลัดไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเชื่อมโยงท่าเรือสำคัญของสหภาพยุโรป เช่น ท่าเรือเจนัว (อิตาลี) ท่าเรือเลออาฟวร์ (ฝรั่งเศส) ท่าเรือรอตเตอร์ดัม (เบลเยียม) ท่าเรือฮัมบูร์ก (เยอรมนี)จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเชื่อมต่อเส้นทางทรานส์แอตแลนติกไปถึงสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออก เช่น ท่าเรือนิวยอร์ก และท่าเรือฟลอริดา วิกฤติความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในอาณาบริเวณนี้จึงมีผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทย ซึ่งพึ่งพาการนำเข้า และส่งออกในสัดส่วนที่สูง
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น สายเดินเรือเกือบทุกรายเปลี่ยนเส้นทางหลีกเลี่ยงคลองสุเอซด้วยการใช้เส้นทางผ่านแอฟริกาตะวันตกอ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) เป็นแผ่นดินยื่นออกไปทางมหาสมุทรแอตแลนติกระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากเมืองเคปทาวน์เมืองหลวงของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ การที่เรือสินค้าโดยเฉพาะเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์เปลี่ยนไปใช้เส้นทางอ้อมจึงมีผลโดยตรงต่อระยะเวลาเดินทางที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัวส่งผลต่อต้นทุนค่าระวางเรือที่พุ่งขึ้น
กรณีเปรียบเทียบการขนส่งสินค้าจากท่าเรือรอตเตอร์ดัมตั้งอยู่ที่ประเทศเบลเยียมเป็นท่าเรือหลักของสหภาพยุโรปกับปลายทางท่าเรือสิงคโปร์ หากใช้เส้นทางคลองสุเอซระยะทางประมาณ 11,190 กิโลเมตร หากเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮประยะทางประมาณ 17,580 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30-35 วันขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ความเร็วและสภาพอากาศ
ระยะทางจากท่าเรือหลักของยุโรปมาท่าเรือสิงคโปร์หากใช้คลองสุเอซจึงมีระยะทางสั้นกว่าอ้อมแหลมกู๊ดโฮปประมาณ 6,390 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางมากกว่าประมาณ 14-15 วัน
สถานการณ์การปรับค่าระวางขนส่งสินค้าเส้นทางยุโรป และสหรัฐอเมริกา ช่วงต้นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนม.ค. 2566 สายการเดินเรือที่อยู่ในประเทศไทยมีการปรับค่าระวางอย่างเป็นทางการไป 2 รอบ ค่าระวางเรือจากไทยส่งออกไปโซนยุโรปจากช่วงปลายปีที่แล้ว ราคาขนส่งตู้คอนเทนเนอรขนาด20 ฟิต 1,650 USD/TEU
หลังมีเหตุการณ์ขัดแย้งในทะเลแดงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ปรับเป็น 2,800 USD/TEUs และเดือนก.พ.ประกาศล่วงหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 USD/TEU เพิ่มขึ้น 2.42 เท่า ขณะที่เส้นทางไปสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกเดือนธันวาคม 2,350 USD/TEU เดือนก.พ.แจ้งปรับล่วงหน้าเป็น 4,450 USD/TEU เพิ่มขึ้น 1.89 เท่า
จากข้อมูลเชิงลึกสายการเดินเรือแจ้งว่าโอกาสที่ค่าระวางเรือเดือนกุมภาพันธ์ จะปรับสูงขึ้นไปจากอัตราดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงโดยเส้นทางไปสหรัฐอเมริกา อาจกระโดดขึ้นไปถึง 7,050 USD/TEU และเส้นทางไปยุโรปอาจเพิ่มเป็น 4,950 USD/TEU โดยจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากความขัดข้องในการขนส่ง เช่น ค่าความเสี่ยง (Transit Disruption Charge), ค่าธรรมเนียมปรับเส้นทางฉุกเฉิน (Contingency Adjustment Charge) สายการเดินเรือระบุว่าหากวิกฤติยังไม่ยุติจะยังคงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก เช่น ค่าประกันภัย, ค่าบริหารจัดการเดินทางระยะไกล ฯลฯ
นายธนิต กล่าวว่า ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยนั้น แม้ว่าวิกฤติขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์อาณาบริเวณทะเลแดงซึ่งอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย จากที่กล่าวเห็นได้ว่าการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนเส้นทางจากคลองสุเอซมาใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปเพิ่มระยะทาง และเวลาขนส่งประมาณ 1 เท่า ขณะที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 1.89-2.42 เท่า
อนาคตอันสั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นการปรับราคาสินค้า เช่น ปุ๋ย วัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปซึ่งค่าระวางเรือจะแฝงตัวอยู่ในราคาสินค้า
ขณะที่การส่งออกของไทยส่วนใหญ่จะใช้เงื่อนไข “FOB” แต่ค่าระวางเรือที่ปรับสูงย่อมมีผลต่อกำลังซื้อ การปรับราคาสินค้าจะกระทบเป็นวงกว้างไปสู่ประเทศต่างๆ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งปีนี้มีความเปราะบางจากการฟื้นตัวแบบช้าๆ จากวิกฤติระบาดโควิด-19 ตามด้วยความขัดแย้งสงครามรัสเซีย - ยูเครนซึ่งยังไม่จบทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกา และอียูต้องทุ่มงบประมาณด้านอาวุธกระทบไปถึงความบอบช้ำทางเศรษฐกิจยังถูกซ้ำเติมด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส และตามด้วยความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลแดง
ฉากทัศน์วิกฤติทะเลแดงจะกระทบเศรษฐกิจโลกในวงกว้างโดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญกำลังซื้อของโลกจะหดตัวซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เล็กน้อยประมาณ 2.65 %(ค่าเฉลี่ย IMF/World Bank) กำลังซื้อของโลกจะอ่อนแอซ้ำเติมกำลังการผลิตให้ลดลงเนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัว
ภาพที่จะเห็นต่อไปคือ เงินเฟ้อของไทย และของโลกที่เริ่มชะลอตัวอาจสูงขึ้นนำไปสู่การลดลงของความเชื่อมั่นในการลงทุน อย่างไรก็ตามค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลโซนเอเชียไม่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นนัยราคาขนส่งยังไม่เปลี่ยนแปลงยังคงที่ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กช่วง 30 วันที่ผ่านมา ราคาเริ่มขยับอยู่ที่ 75.2 USD/บาร์เรล แต่ยังต่ำกว่าช่วงกลางเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติอิสราเอล-ฮามาส
สำหรับราคาน้ำมันดิบของไทยหน้าโรงกลั่น (E20) ช่วง 30 วันที่ผ่านมา ขยับตัวสูงขึ้นเพียง 0.56 บาท/ลิตร (ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยยูเครนส่งโดรนถล่มโรงน้ำมันรัสเซียในทะเลบอลติก และการเกิดพายุหิมะอาร์กติกทำให้สหรัฐอเมริกาหนาวเป็นประวัติการณ์) ด้านเสถียรภาพค่าเงินบาทในช่วงเวลาเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่า 1.01 บาทหรืออ่อนค่าประมาณร้อยละ 2.91 ซึ่งใกล้เคียงสอดคล้องกับภูมิภาคเปรียบเทียบมาเลเซียเงินริงกิตอ่อนค่า 2.23%
ในช่วงเวลาเดียวกันราคาทองคำแท่งโลกกลับมีแนวโน้มลดลงต่ำสุด ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าโลกยังไม่ให้น้ำหนักวิกฤติทะเลแดงจะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นนัย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤติทะเลแดงในทางเศรษฐกิจที่จะมีต่อประเทศไทยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความขัดแย้งจะใช้เวลายาวเพียงใดหรือมีผลข้างเคียงขยายตัวจนกระทบต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์