'คมนาคม' ดันตั้งกองทุนแลนด์บริดจ์ ชดเชยเวนคืนที่ดินประชาชน
“คมนาคม” สั่ง สนข.เร่งศึกษาผลกระทบเวนคืนที่ดินสร้าง “แลนด์บริดจ์” เตรียมกำหนดเงื่อนไขใน TOR เอกชนรับผิดชอบตั้งกองทุน เพื่อชดเชยประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดิน มั่นใจ 90% โครงการเกิดแน่ในรัฐบาลนี้ เผยเอกชนกลุ่มจีน – ดูไบ จ่อยื่นข้อเสนอร่วมทุน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า จากการลงพื้นที่หารือร่วมกับประชาชนพบว่ามีข้อกังวลหลักเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มไม่มีเอกสารสิทธิถือครองที่ดิน ส่งผลให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การชดเชยเวนคืน
ขณะที่ปัจจุบันประชาชนใช้ประโยชน์ที่ดินเหล่านี้ในการทำเกษตรกรรม จึงมีข้อกังวลว่าหากรัฐบาลเวนคืนที่ดินจะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่สามารถรับเงินชดเชยจากการเวนคืนได้ โดยเบื้องต้นกระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลบ้านเรือนประชาชนและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งในศึกษาแนวทางจัดตั้งกองทุนแลนด์บริดจ์เพื่อนำเงินจากกองทุนมาชดเชยแก่ประชาชนกลุ่มไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน
“ประชาชนที่อยู่อาศัย หรือ ทำกินแต่อยู่ในแนวเขตทางที่ต้องเวนคืน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิกรรมสิทธิในที่ดิน ก้มีข้อกังวลว่าทางภาครัฐจะช่วยอย่างไรบ้าง ในเรื่องนี้กระทรวงฯ จะเร่งศึกษา ซึ่งมีแนวคิดที่ว่าจะกำหนดเป็นเงื่อนไขในเอกสารเชิญชวนเอกชน โดยจะระบุให้เอกชนที่ลงทุนจะต้องตั้งกองทุนแลนด์บริดจ์ เพื่อชดเชยประชาชนที่ไม่มีเอกสารกรรมสิทธิที่ดิน ส่วนนี้เอกชนจะต้องเป็นผู้เสนอในการชดเชยให้”
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมั่นใจ 90% ว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นแน่นอนภายในรัฐบาลนี้ เพราะจากที่ก่อนนี้กระทรวงฯ ได้มีการโรดโชว์ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และสวิสเซอร์แลนด์ พบว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะขณะนี้นักลงทุนจากดูไบ บริษัท ดูไบ พอร์ต เวิลด์ (DP World) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า แสดงความสนใจร่วมทุนในโครงการนี้ และนัดจะมาลงพื้นที่พร้อมหารือรายละเอียด
ขณะเดียวกันเอกอัครราชทูตจีนยังได้ติดต่อมายังกระทรวงฯ เพื่อให้เร่งเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน เพราะนักลงทุนจีนให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์อย่างมาก ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ มีแผนจะเดินทางไปโรดโชว์ที่จีนแล้ว แต่จะปรับรูปแบบเป็นการโรดโชว์โดยตรงแก่เอกชน เน้นบริษัทที่พร้อมเข้ามาลงทุน เพื่อให้ข้อมูลโครงการได้ตรงจุดและสอบถามความเห็นจากนักลงทุนโดยตรง ก่อนนำมาจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR)
สำหรับการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2568-2583 โดยจะมีการคัดเลือกเอกชนในรูปแบบการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) สัญญาเดียว มีระยะเวลาสัญญาในการบริหาร 50 ปี ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่ง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางรถไฟ
ในส่วนของกลุ่มนักลงทุนนั้น จะต้องมีการรวมกลุ่มกันของทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการท่าเรือ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกฎหมายใหม่จะถูกร่างขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุน
ทั้งนี้ ภายใต้ระยะเวลาสัญญา 50 ปี จากการประเมิน พบว่านักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 24 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นการประเมินจากรายได้จากการบริหารท่าเรือ และขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากการอุตสาหกรรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น จะช่วยสร้างผลประโยชน์ด้านการเงิน และระยะเวลาคืนทุน จะดีกว่าการประเมินข้างต้นอย่างแน่นอน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนรับสัญญาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มโรดโชว์ในต่างประเทศบ้างแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักลงทุนและสายการเดินเรือ ส่วนขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คาดว่าโรดโชว์จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567
หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573