เศรษฐกิจไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ แต่ทำไมต้นทุนชีวิตเพิ่มขึ้น
แบงก์ชาติ (ธปท.) ที่บอกว่าเศรษฐกิจไทย “ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ” กับผู้นำรัฐบาล ที่ยืนยันตลอดเวลาว่า “เศรษฐกิจไม่ดี” ใครคือคนที่มองเห็นภาพประเทศไทยได้แม่นยำกว่ากัน
กลายเป็น “ประเด็น” ที่หลายเวทีถกเถียงกันไปแล้วว่า ขณะนี้ “เศรษฐกิจไทย” อยู่ในภาวะไม่วิกฤติหรือไม่ เพราะหากดูประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566-2567 ของหลายหน่วยงานที่ออกมาแตกต่างกัน ทำให้เกิดความสับสนและมีคำถามว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และควรเชื่อข้อมูลของหน่วยงานไหน เพราะแม้แต่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ก็ไม่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า “หน่วยนโยบาย” เองก็ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน มองภาพการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยไม่เหมือนกัน
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 เติบโต 2.4% และ 3.2% ต่อปี ในปี 2567 ส่วนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า GDP ปี 2566 เติบโต 2.5% และ 2.7-3.7 % ต่อปีในปี 2567
ล่าสุดกระทรวงการคลัง ประมาณการว่า GDP ปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% และ 2.8% ต่อปีในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวสูง ส่วนการท่องเที่ยวคาดว่าปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมา 33.5 ล้านคน ขยายตัว 19.5% ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซีย มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6 % ต่อปี
ตัวเลขประมาณการ GDP ปี 2566 ของ 2 หน่วยนโยบายไม่เท่ากัน แต่ สศช. กับแบงก์ชาติ ก็ไม่ต่างกันมาก ซึ่งต้องรอตัวเลขที่แท้จริงของ สศช. เดือนหน้า มีเพียงประมาณการของกระทรวงคลังที่ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์มาก ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนถึงกับบอกว่า หากเศรษฐกิจไทยลดลงสู่ระดับดังกล่าว หมายความว่าไตรมาส 4 GDP ลดเหลือเพียง 1% เท่านั้น และจะกลายเป็นโมเมนตัมที่จะส่งผ่านมาสู่ปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่ฐานะปานกลางล่างไปจนถึงฐานะรากหญ้าที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบ
แม้ว่า “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จะยืนยันผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ “ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ” สิ่งที่เห็นคือเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอยู่เพียงแต่ช้ากว่าที่คาดเอาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันคือวิกฤติ” และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลจะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นอุปสรรคที่ขวางการเติบโต
คำถามคือ “เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ” จริงหรือไม่ ทำไมประชาชนหลายคนถึงมีต้นทุนชีวิตเพิ่มขึ้น จากหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยขาขึ้น มีความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยลดลง มิหนำซ้ำสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อบ้านน้อยลง แม้ว่าปล่อยก็ไม่เต็มจำนวน ขนาดบ้านราคา 3 ล้าน ยื่นกู้ 10 คนได้รับอนุมัติเพียง 3 คน แต่ยังมีคนใช้เงินสดซื้อบ้านราคา 20 ล้านขึ้นไปได้ถึง 67% แสดงให้เห็นว่า คนที่รวยยังไม่ได้เดือดร้อนกับตัวเลข GDP ที่ต่ำลง
อีกไม่นานเราคงได้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า คำพูดของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่บอกว่าเศรษฐกิจไทย “ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ” กับผู้นำรัฐบาล ที่ “ยืนยันตลอดเวลาว่าเศรษฐกิจไม่ดี” ใครคือคนที่มองเห็นภาพประเทศไทยได้แม่นยำกว่ากัน