‘เศรษฐา’ หารือเอกชนเยอรมัน เดินหน้า 7 ประเด็นความร่วมมือ เร่ง FTA สองประเทศ

‘เศรษฐา’ หารือเอกชนเยอรมัน เดินหน้า 7 ประเด็นความร่วมมือ เร่ง FTA สองประเทศ

นายกฯ หารือ ผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี 12 บริษัท ซึ่งเดินทางมาพร้อมประธานาธิบดีเยอรมนี เอกชนเชื่อมั่นพร้อมต่อยอดการลงทุนในไทย มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันใน 7 ประเด็น พร้อมหารือความร่วมมือทำ FTA เพิ่มมูลค่าการค้าสองประเทศ

วันนี้ (25 มกราคม 2567) เวลา 11.05 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่

  1. สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ
  2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์
  3. พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม
  4. บริการ ดิจิทัลและการศึกษา
  5. วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและความต้องการด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า เยอรมนีเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแข็งแกร่งระหว่างสองประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกที่มีทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับเยอรมนีอย่างยาวนานนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1862 โดยเชื่อมั่นว่าไทยไม่ได้เป็นเพียงประเทศด้านการค้าการลงทุนเท่านั้น แต่เป็นพันธมิตรที่ดีสำหรับเยอรมนี ซึ่งเชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน

รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน

‘เศรษฐา’ หารือเอกชนเยอรมัน เดินหน้า 7 ประเด็นความร่วมมือ เร่ง FTA สองประเทศ

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบกับตัวแทนภาคเอกชนเยอรมนีทุกท่านในวันนี้ ซึ่ง มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวสรุปข้อหารือที่ได้จากคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมัน โดยได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

1.พลังงานสะอาด การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด

2.การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย

3.การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

4.การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV

5. การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

6.ภาษีสีเขียว โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป

และ 7.ด้านการเจรจา FTA เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่น ๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ

 

 จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เน้นนโยบายหลักหลายประการ ทั้งในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาว ขณะเดียวกันรัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมี Roadmap ที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาสนามบิน การพัฒนาระบบรางรถไฟ โครงการ Landbridge นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสะดวกในการทำธุรกิจสำหรับภาคเอกชนต่างชาติในไทย ซึ่งไทยเปิดรับการทำธุรกิจได้อย่างอิสระ มาตรการจูงใจทางภาษี รวมไปถึงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเยอรมนีถือเป็นผู้นำระดับแนวหน้าของโลก 

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพร้อมจะยกระดับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนทั้งจากไทยและเยอรมัน โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในเดือนมีนาคม 2567 นี้ เพื่อพบปะกับบริษัทของเยอรมนี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนของเยอรมนี

‘เศรษฐา’ หารือเอกชนเยอรมัน เดินหน้า 7 ประเด็นความร่วมมือ เร่ง FTA สองประเทศ

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยพร้อมบูรณาการความร่วมมือ อำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการขยายการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งศักยภาพและเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ชี้ชัดและมีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลยินดีพิจารณาทุกข้อเสนอแนะและจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป