'เอสซีจี' ทุ่มงบปี 67 กว่า 40,000 ล้าน ทรานส์ฟอร์ม 6 ธุรกิจ ดันเป้ายอดขายโต 20%
“เอสซีจี” ทุ่มงบลงทุนปี 67 ที่ 40,000 ล้าน ลุยนวัตกรรมพลังงานสะอาด ตั้งเป้ายอดขายโต 20% ปัจจัยนโยบายภาครัฐอนุมัติงบลงทุน ลุยส่งออกปูนคาร์บอนต่ำสู่ตลาดสหรัฐ ปิโตเคมีเวียดนาม LSP เตรียมป้อนนวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงสู่ตลาดโลก ปักหมุดซาอุฯ เชื่อมต่อการค้าโลก
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า การดำเนินงานปี 2567 ทั้ง 6 กลุ่มธุรกิจ จะเติบโตอย่างเต็มที่ทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยนวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร และนวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงจากโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ เน้นบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการของไทย คาดว่าตลาดอาเซียนจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม เอสซีจีจะมุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีนที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจพร้อมสร้างสังคม Net Zero ตั้งเป้ารายได้จากยอดขายปี 2567 โต 20% โดยตั้งงบลงทุน 40,000 ล้านบาท เน้นนวัตกรรมรักษ์โลก พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีความต้องการและเติบโตได้อีกมาก สะท้อนจากยอดขาย SCG Green Choice ปี 2566 อยู่ที่ 54% ของยอดขายทั้งหมด อีกทั้งเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) เพิ่มความหลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้า
ทั้งนี้ เอสซีจี ได้พร้อมทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจตามกลยุทธ์สร้างความคล่องตัว แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาว เพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ให้ทันท่วงที เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งผันผวน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ผ่าน 6 ธุรกิจหลัก คือ
1. ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC ซึ่งตลาดปิโตรเคมีคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นและอุปทานที่ลดลง โดยจะเร่งพัฒนาพลาสติกรักษ์โลก สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาตลาดมีความต้องการมากขึ้น ส่งผลให้มียอดขายปี 2566 อยู่ที่ 39% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
ทั้งนี้ โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMERTM ในปีที่ผ่านมามียอดขายเติบโตอยู่ที่ 218,000 ตัน เพิ่มขึ้น 56% จากปีก่อน ตั้งเป้าสู่ Green polymer 1 ล้านตัน ในปี 2573
“เราจะเร่งขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ด้วยนวัตกรรมพลาสติกสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์น้ำหนักเบา ช่วยประหยัดพลังงาน และความร่วมมือกับ Denka ในการผลิตและจำหน่ายอะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene Black) ส่วนประกอบสำคัญสำหรับนำไฟฟ้าในการผลิตขั้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จไฟได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีปริมาณความต้องการสูง”
2. ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน โดยปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนมาอยู่ที่ 40% ดังนั้น ปี 2567 จะเดินหน้าผลิตและส่งมอบโซลูชันรับการฟื้นตัวของตลาดไทย ทั้งในส่วนของอสังหาริมทรัพย์และโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ควบคู่กับตอบสนองความต้องการของตลาดอาเซียน ผ่านโซลูชันการออกแบบอาคารที่ช่วยคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้าง ด้วยแพลตฟอร์ม KITCARBON
นอกจากนี้ เอสซีจะจะเดินหน้าพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น15% จากปีก่อน ล่าสุดขยายการส่งออกไปประเทศสหรัฐและมาเลเซีย ซึ่งปีนี้ จะออกปูนคาร์บอนต่ำ เจนเนเรชันที่ 2 ซึ่งจะลดคาร์บอนเพิ่มขึ้นจากรุ่นแรกอีก 5%
3. ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง จะเน้นบริหารจัดการต้นทุนด้วยการปรับใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งพัฒนาสมาร์ทโซลูชันตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ที่ต้องการประหยัดพลังงาน มีสุขอนามัยที่ดี ห่างไกล PM 2.5 และมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น SCG Active Air Quality นวัตกรรมเติมอากาศดีให้บ้าน ป้องกันมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 เชื้อโรค แบคทีเรีย และ ไวรัส เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีหลังคาเอสซีจี เมทัลรูฟ รุ่น คอมฟอร์ท ลอน Snap Lock นวัตกรรมหลังคาช่วยป้องกันเสียงจากภายนอก และกันความร้อน ประหยัดการใช้พลังงานภายในบ้าน และ SCG Solar Roof Solutions ซึ่งมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 105% จากปีก่อน ทั้งยังมุ่งขยายสมาร์ทโซลูชันสู่ตลาดใหม่ ๆ อาทิ ติดตั้งนวัตกรรมบำบัดอากาศเสียพร้อมประหยัดพลังงาน SCG Air Scrubber ให้อาคาร Keppel Bay Tower โครงการอสังหาฯ ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสิงคโปร์ ช่วยประหยัดพลังงานจากระบบปรับอากาศได้สูงสุด 30%
4. ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล เร่งขยายความแข็งแกร่งสู่ตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างภูมิภาค SAMEA (เอเซียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) โดย SCG International ตั้งสำนักงานในกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ พร้อมเป็น International Supply Chain Partner บริหารจัดการตั้งแต่การหาแหล่งผลิตสินค้าจนถึงการสร้างตลาดให้คู่ค้าจากทั่วทุกมุมโลก ขยายโอกาสธุรกิจและเจาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ สร้างสังคม Net Zero ผ่านกลุ่มสินค้าซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างรักษ์โลก พร้อมด้วยกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม กระดาษและแพคเกจจิ้ง
5. ธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร มีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากตามทิศทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของโลก โดยใช้ระบบ Smart Grid ช่วยให้การซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้าสะดวกยิ่งขึ้น ปี 2566 มีกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวม 450 เมกะวัตต์ ล่าสุด ได้ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ อาทิ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล เตรียมขยายไปยังตลาดอาเซียน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2567
6. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP จากไตรมาส 4 ปี 2566 ความต้องการภาคบริโภคในเวียดนาม และอินโดนีเซียเริ่มฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสินค้าส่งออก โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง และในปี 2567 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งออก จึงมุ่งนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งขยายกำลังการผลิตและ M&P ในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
“ภาพเศรษฐกิจของไทยปีนี้น่าจะขยับตัวดีขึ้น เมื่อรัฐบาลอนุมัติงบประมาณก็เชื่อว่าจะมีการขยับตัวในทางที่ดีมีดีมานด์เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวจะกลับมามากขึ้น รวมถึงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเชิญนักลงทุนต่างประเทศน่าจะเริ่มเข้ามา”
สำหรับผลประกอบการปี 2566 อยู่ในระดับที่มั่นคง แม้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จีน และอาเซียนชะลอตัว ตลาดปิโตรเคมียังอ่อนตัว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง มีรายได้ 499,646 ล้านบาท ลดลง 12% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics กำไร 25,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากกำไรของการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
ส่วนผลดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 120,618 ล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมรายการพิเศษ 502 ล้านบาท ทั้งนี้ มีขาดทุนสำหรับงวด 1,134 ล้านบาท จากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในเมียนมา และรวมผลประกอบการของโรงงานปิโตรเคมี ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ และมีเงินสดคงเหลือ 68,000 ล้านบาท