ปิดตำนานโครงการรับจำนำข้าว"อคส."ประเมินความเสียหาย"ยิ่งลักษณ์" 7 แสนล้าน

ปิดตำนานโครงการรับจำนำข้าว"อคส."ประเมินความเสียหาย"ยิ่งลักษณ์" 7 แสนล้าน

อคส.เตรียมเปิดประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาล 1.5 หมื่นตัน ก่อนปิดฉากโครงการจำนำข้าว หลังประเมินความเสียหายรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ - สมชาย” รวม 7.8 แสนล้านบาท จากกองข้าว 51 ล้านตัน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำหนดราคารับจำนำ (รับซื้อ) ข้าวทุกเมล็ดตันละ 15,000 บาท (ข้าวเจ้าความชื้น 15%)  ช่วงดำรงตำแหน่ง 2554-2557 และหากรวมนโยบายจำนำข้าวในส่วนของรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์  รวม 6 โครงการ  ตั้งแต่ปี การผลิตนา ปี 51/52 ไปจนถึง นาปี 56/57 มูลค่าความเสียหายจะอยู่ที่  7.8 แสนล้านบาท (787,209,942,122 บาท ) ปริมาณข้าว 51 ล้านตัน 

ทั้งนี้ การจำนำข้าวตั้งแต่ฤดูกาลผลิต นาปี 51/52 ปริมาณ 3.5 ล้านตัน มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท  นาปรัง ปี 52 ปริมาณ 3 ล้านตัน มูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท นาปี 54/55 ปริมาณ 4.9 ล้านตัน มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท จากนั้นก็เข้าสู่นโยบายการจำนำข้าวทุกเมล็ดของพรรคเพื่อไทย ทำให้นาปรังปี 55 ปริมาณ 11 ล้านตัน ความเสียหาย 1.68 แสนล้านบาท และปริมาณข้าวสูงสุดอยู่ที่นาปี และนาปรัง ปี 55/56 ปริมาณ 18 ล้านตัน มูลค่าความเสียหาย 2.8 แสนล้านบาท จากนั้นปี 56/57 ปริมาณ 9.9 พันตัน มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะโครงการรับจำนำในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประเมินความเสียหายไว้ที่ 7.0 แสนล้านบาท (701,237,831,765 บาท ) ปริมาณข้าวอยู่ที่ 44 ล้านตัน (44,663,247 ตัน)

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบ อคส. กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ได้รวบรวมข้าวคงเหลือในสต็อก ทั้งใน และนอกบัญชีคลังกลาง รวมถึงข้าวนอกคลังปี 48/49 แล้วกว่า 240,000 ตัน เสนอขออนุมัติจาก

คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) โดย อคส.เร่งประกาศระบายตั้งแต่ปี 2565 และส่งมอบเสร็จสิ้นแล้ว ยกเว้นข้าวตกค้างที่ส่งมอบไม่เรียบร้อยโดยเฉพาะจากการยึดหน่วง ซึ่งคงเหลือข้าวหอมมะลิจำนวน 2 คลังใน จ.สุรินทร์ ปริมาณรวม 15,013 ตันข้าวสาร มูลค่า 300 ล้านบาท ที่ผู้ชนะประมูลได้เมื่อปี 2563 ไม่มาชำระเงินก่อนรับมอบข้าว

 ดังนั้น อคส.จึงบอกเลิกสัญญาพร้อมดำเนินคดีต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เนื่องจากเป็นความผิดของผู้ซื้อเองและระบายไม่ทันสิ้นเดือนก.ย.2566 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ นบข. อนุมัติ อคส.จึงรวบรวมเรื่องเพื่อขออนุมัติใหม่จาก นบข. เมื่อต้นเดือนพ.ย.2566 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนก.ย.2567

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ไตรมาส 4 ของปี 2566 เป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิต หากระบายช่วงดังกล่าวจะมีผลต่อราคาข้าวเปลือก อคส.จึงเลื่อนการประมูล และมาเปิดประมูลข้าวเป็นการทั่วไปในเดือนม.ค.2567 ซึ่งได้ประกาศ TOR แล้วเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2567 และจะเปิดคลังสินค้าให้ผู้สนใจประมูลเข้าดูสภาพข้าวระหว่างวันที่ 25-29 ม.ค.2567 โดยให้ยื่นซองคุณสมบัติในวันที่ 31 ม.ค.2567 และจะเปิดซองในวันที่ 8 ก.พ.2567 มั่นใจว่าการส่งมอบข้าวจะเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 31 มี.ค.2567

“เหตุที่ระบายไม่ทันเดือนก.ย.2566 เพราะมีการทักท้วง TOR ที่กำหนดไว้ว่าต้องแสดงหลักฐานการเงินต่อการซื้อ จึงให้คณะกรรมการ TOR ทบทวนพิจารณาข้อทักท้วงอย่างรอบคอบก่อนจะยืนยันกรอบ TOR เดิมเพื่อดำเนินการระบายข้าว”

ส่วนปัญหาการชำระเงินมีมาอย่างต่อเนื่อง การระบายข้าวของคลังที่จะประมูลที่ผ่านการประมูล 3 ครั้งด้วยกัน ในปี 2557, 2558 และ 2563 ทุกครั้งมีปัญหาการชำระเงินก่อนรับมอบสินค้า จนต้องบอกเลิกสัญญาพร้อมดำเนินคดีและประมูลใหม่

นอกจากนี้ การประมูลข้าวในปี 2565 ได้กำหนดคือ ต้องแสดงหลักฐานการเงิน ส่งผลให้ไม่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบ และเสร็จสิ้นทุกคลัง ยกเว้นมีผู้ประกอบการบางรายที่ยื่นราคาน้อยกว่าผู้ชนะการประมูล รวม 85 ล้านบาท ได้ยื่นเรื่องกล่าวหาว่ามีการทุจริตต่อ ป.ป.ช. และขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์