เปิดแผน 3 ข้อ อุ้มราคาเบนซิน หลัง 'คลัง' ไม่ต่อมาตรการลดภาษี
เปิดแผนกระทรวงพลังงาน พยุงราคาน้ำมันเบนซินต่อ ภายหลัง "กระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณไม่ต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันเบนซินโซฮอล์ 91 จำนวน 1 บาทต่อลิตร
Key points
- "พลังงาน" ยันดูแลราคาน้ำมันเบนซินต่อเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน หลัง "คลัง" หมดมาตรการลดภาษี 31 ม.ค.นี้
- "กองทุนน้ำมันฯ" รับช่วงต่อดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ไม่ให้กระทบประชาชน
- "พลังงาน" ยืนยัน แม้ไร้มาตรการลดภาษีน้ำมัน 1 บาทต่อลิตร จะไม่ปรับขึ้นทันที 1 บาทแน่นอน
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันกลุ่มเบนซิน ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้มีมาตรการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินทุกประเภท ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 เป็นต้นมา โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่กำลังจะถึงนี้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ประชุมเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว ทั้งการบริหารจัดการเรื่องราคาโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) และการบริหารจัดการเรื่องปริมาณการจัดหาและการจำหน่ายโดยกรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ มั่นใจแม้สิ้นสุดมาตรช่วยเหลือดังกล่าว ยังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
“กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันตรวจสอบให้มีน้ำมันพร้อมจำหน่ายเต็มที่” นายประเสริฐ กล่าว
สำหรับมาตรการลดราคากลุ่มน้ำมันเบนซินได้ใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร จากกระทรวงการคลัง ร่วมกับใช้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อุดหนุนเพื่อทำให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงรวม 2.50 บาทต่อลิตร ประกอบด้วย
- ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.50 บาทต่อลิต
- ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1 บาทต่อลิตร
- E20 และ85 ลดลง 80 สตางค์ต่อลิตร
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อไม่มีมาตรการลดภาษีน้ำมันกลุ่มเบนซินจากสรรพสามิตแล้ว กองทุนน้ำมันฯ จะต้องเข้ามาดูแล โดยอาจตั้งสมมุติฐานแบ่งเป็น
1. ปล่อยราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นทันที 1 บาทต่อลิตร ตามมาตรการกระทรวงการคลังที่ลดภาษีให้ 1 บาท
2. ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปอุดหนุนแก๊สโซฮอล์ 91 ทั้งหมด 2.5 บาทต่อลิตร โดยลดอัตราการจัดเก็บเพิ่มขึ้น
3. ทะยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินระดับ 50-80 สตางค์ต่อลิตร
"ตามนโยบายของนายพีระพันธุ์ ต้องการให้ราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น หากกระทรวงการคลังไม่ร่วมมารตรการลดภาษีน้ำมันให้ครั้งนี้ การจะปรับขึ้นทันที 1 บาทต่อลิตร คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันทันที อย่างมากก็จะปรับขึ้นระดับ 50-80 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก กระทรวงพลังงานคงไม่ปรับราคาขึ้นขนาดนี้ทีเดียว"
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ใช้เงินเข้าอุดหนุนกลุ่มดีเซลระดับ 3-4 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกเดือนละประมาณ 7-8 พันล้านบาท ส่วนเบนซินยังถือว่ามีเงินเข้าบัญชีอยู่บ้าง
สำหรับ ฐานะกอทุนน้ำมันฯ วันที่ 21 ม.ค. 2566 ติดลบ 83,020 ล้านบาท แบ่งเป็น
- บัญชีน้ำมันติดลบ 36,594 ล้านบาท
- บัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 46,426 ล้านบาท
- เงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินมีการเบิกเข้าบัญชีแล้วที่ 75,000 ล้านบาท
"เท่าที่รับรายงานจากกองทุนน้ำมันฯ ยังมีเงินกู้ที่ทำสัญญาไว้อีก 30,000 ล้านบาท ที่ยังไม่มีการเบิกเข้าบัญชี ถือเป็นเงินจำนวนเท่า ๆ กับที่ยังค้างจ่ายคู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ จะมีตัวเลขการค้างจ่ายและคิวการจ่ายว่าควรจะเบิกเงินกู้มาเข้าบัญชีใช้ไนี้เมื่อไหร่ เพราะยิ่งนำเข้าบัญชีเร็วก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเร็วตามไปด้วย" แหล่งข่าว กล่าว
รายงานข่าวระบุว่า ตลอดปี 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายพีระพันธุ์ เป็นประธาน ได้บริหารจัดการราคาขายปลีกของกลุ่มดีเซล โดยปรับลดราคาขายปลีกดีเซลไปแล้วรวม 7 ครั้ง จากราคา 35 บาทต่อลิตรมายืนระยะที่ 32 บาทต่อลิตร ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนมาถึงปัจจุบันมีการปรับราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร จากผลของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ให้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตและกลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาระดับราคาขายปลีก
ในขณะที่ การรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ทยอยปรับราคาจาก 408 บาทต่อถัง 15 กก. เป็น 423 บาทต่อถัง 15 กก. ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ