จับตาสหรัฐ-จีน แข่งสงครามเทคโนโลยี โอกาสไทยเชื่อมลงทุนรุกตลาดใหม่
สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐ จะยังดำเนินต่อเนื่องและเป็นภาพระยะยาว โดยเฉพาะในสมรภูมิของอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ควอนตัมเทคโนโลยี เจนเอไอ พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า
นายอาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา GEOPOLITICS 2024: จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกวิกฤติ” ว่า ในปัจจุบันมีนักวิเคราะห์ที่ออกมาบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในยุควิกฤติ การส่งออกของหลายประเทศในเอเชียติดลบ เศรษฐกิจจีนไม่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางแห่งที่บอกว่านี้คือยุคทอง เป็นโอกาสของเศรษฐกิจใหม่ในอาเซียน
เมื่อถามว่าสรุปแล้วภูมิภาคนี้กำลังวิกฤติหรือมีโอกาสกันแน่ คำตอบสั้นๆ คือ ในระยะสั้นจะเหนื่อยหน่อย เพราะเศรษฐกิจจีนที่ยังติดหล่มด้วยสาเหตุหลักจากภาคอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็น 15-30% ของ GDP ถ้ายังไม่ฟื้นก็คงซึมไปอีกระยะเวลาหนึ่งราว 1-2 ปี
ซึ่งแน่นอนว่าเศรษฐกิจจีนมีบทบาทอย่างมากต่อประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะไทยที่มีปริมาณการส่งออกไปยังจีนมาก รวมทั้งพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจในประเทศจีนไม่โต จึงส่งออกมากขึ้นมายังตลาดใหม่ อย่างที่เราเห็นสินค้าจีนทะลักเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ท่ามกลางความวุ่นวายของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทุกคนกำลังต้องการกระจายความเสี่ยง สหรัฐต้องการหาตลาดใหม่ทดแทนจีน จึงมองอาเซียนและภูมิภาคใหม่มากขึ้น อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม
ขณะที่จีนยืนอยู่ท่ามกลางสงครามการค้าทำให้ส่งออกไปสหรัฐและยุโรปไม่ได้ จึงมองหาตลาดใหม่ ทั้งอาเซียน ลาตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง
“ดังนั้นถ้าเรามองในมุมนี้ก็ถือเป็นโอกาสได้เช่นกันในการดึงดูดการลงทุนจากจีนและร่วมมือกันในการหาตลาดใหม่ๆ แต่ไทยจะคว้าโอกาสที่ว่านี้ได้มากน้อยเพียงใดในระยะการเปลี่ยนผ่านของแผนที่เศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าในระยะยาวไทยจะมีการปรับตัวอย่างไร”
"ทั้งนี้ สงครามการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน (Tech War) จะเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว โดยสมรภูมิที่กำลังดุเดือดในปัจจุบันอยู่บนอุตสาหกรรมใหม่ที่ทั้งสองประเทศกำลังเริ่มต้นพร้อมกัน โดยไม่มีใครอยู่เหนือกว่าใคร อาทิ ควอนตัมเทคโนโลยี เอไอช่วยสร้าง (Gen AI) พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)"
“อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ที่จีนประกาศออกมาแล้วว่าจะทุ่มสุดตัวที่จะใช้สรรพกำลังทั้งหมดในการเอาชนะสหรัฐ เพื่อเป็นไพ่ใบใหม่ในการต่อรอง”
ซึ่งสิ่งหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการเทคโนโลยีโลกหลายเรื่อง ทั้งความเร็วในการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล อย่างที่เห็นวัคซีนโควิดที่แข่งขันกันพัฒนาอย่างรวดเร็วเพียง 1 ปี หรือแม้แต่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องพลังงานสะอาด เอไอ ควอนตัมที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เร็วกว่าในอดีต
ในขณะเดียวกันก็จะมีความพยายามในการแยกห่วงโซ่เทคโนโลยีออกจากกัน เพราะเบื้องหลังของเทคโนโลยีคือเรื่องความมั่นคง อย่างเอไอที่นำมาใช้ในอาวุธ การถอดรหัสข้อมูล ที่เป็นเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นเหตุผลที่นอกจากจะทำให้เกิดการแยกห่วงโซ่อุปทานการค้าแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอีกด้วย
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 1990-2009 เป็นช่วงที่เรียกว่า Hyperglobalisation โลกเกิดการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการค้าและการลงทุน ในขณะที่ช่วงปี 2010-2023 เรากำลังอยู่ในช่วง Slowbalisation คือการค้าโตอย่างเดียวแต่การลงทุนกลับลดลงอย่างมาก ซึ่งอันที่จริงภาวะโลกาภิวัตน์เริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงปี 2010 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่องว่างของเทคโนโลยีที่ลดลง รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ไม่แตกต่างกันมาก
ปัจจุบันท่ามกลางสงครามและการแบ่งขั้วทำให้แนวคิดเศรษฐศาสตร์เดิมที่แต่ละประเทศทำสิ่งที่ถนัดและแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างกันนั้นเปลี่ยนไป ทั้งนี้แนวคิดการค้าระหว่างประเทศจะต้องเป็นมิตรกันและได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในขณะที่เมื่อมีความมั่นคงเข้ามามันกลายเป็นมีคนได้และมีคนเสีย
“ในหลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าการค้ากับ GDP กำลังขยายตัวในอัตราที่เท่ากัน ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่ไทยต้องระมัดระวัง เพราะการส่งออกที่ถือเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจอาจไม่สามารถดึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้แล้ว”
จากรายงานของฝ่ายข่าวกรองสหรัฐตอนหนึ่งระบุว่า จีนถือเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐโดยเฉพาะในแง่ของความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ในขณะที่จีนกำลังดำเนินนโยบายเชิงรุกในด้านการทูตในการดึงไทยไปเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาของจีน อาทิ โครงการแถบและเส้นทาง (belt and road)
“จีนมีการปรับตัวมานานมากแล้วในการเดินหน้าแผนการแบ่งขั้ว สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกในเส้นทาง belt and road เพิ่มมากขึ้นและยังมากกว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐและยุโรปรวมกัน”
ประเด็นสำคัญคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP ของโลก 1 ใน 3 ขยายตัวเพราะเศรษฐกิจจีน ในขณะที่ต่อจากนี้ไปการขยายตัวเศรษฐกิจจีนปีนี้อยู่ที่ 4.6% เริ่มลดลงมาเท่ากับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวราว 3.2% ซึ่งหมายความว่าจีนจะไม่ได้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของโลกอีกต่อไป และไทยจะต้องรับเรื่องนี้ให้ได้ในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกรวมทั้งต้องวิเคราะห์ให้ถูกว่าจีนจะเดินต่อไปอย่างไร
ทั้งนี้ จีนเป็นมหาอำนาจด้านการค้าโลกแซงหน้าสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2010 นอกจากนี้ ยังมีมูลค่าการลงทุนสูงมากเป็นพิเศษ ขณะที่ดีมานด์ในประเทศมีไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับพลังการผลิต ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็น 28% ของโลก
“จริงๆ แล้วเศรษฐกิจจีนบางส่วนฟื้นและบางส่วนไม่ฟื้น ซึ่งส่วนที่ฟื้นแล้วส่งผลกระทบต่อไทยมากคือภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยจีนกำลังเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออก เช่น อีวี ที่จีนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก”
‘ทรัมป์’ ตัวแปรไม่แน่นอน
นายศุภวุฒิ กล่าวถึงการเลือกตั้งสหรัฐที่จะกำลังจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ว่า หากทรัมป์กลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ผมมองว่าทรัมป์มีความคาดการณ์ไม่ได้ ทุกนโยบายของเขาในความเห็นของผมยังทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความปั่นป่วนและแย่ขึ้นอย่างไม่เคยคิดขึ้นมาก่อน อาทิ การถอนสหรัฐจาก NATO การปิดชายแดน ลดภาษีแต่ไม่ลดรายจ่ายรัฐ ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาก ถ้าเกิดทรัมป์ขึ้นรับตำแหน่งอีกบอกเลยว่าตัวใครตัวมัน