ไทยเป็นมิตรทุกประเทศ การทูตเชิงรุกดึงลงทุน
ในขณะที่โลกยังคงเต็มไปด้วยความผันผวนมากมาย ยังมีโอกาสที่ไทยสามารถคว้าได้ และมองไปข้างหน้าทุกฝ่ายต้องจับมือกันพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่ประเทศไทย
นักเศรษฐศาสตร์ และภาคธุรกิจหลายรายเห็นตรงกันว่า Geopolitics อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่าแนวโน้มการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยปีนี้จะเพิ่มขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ ขณะที่ “การทูตเชิงรุก” ที่ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปาฐกถาในงาน Geopolitics 2024 : จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย ที่กรุงเทพธุรกิจจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ระบุว่า ไทยต้องรักษาความเป็นมิตรและมีความสัมพันธ์อันดีต่อทุกขั้ว ทำให้คาดเดาภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
“การทูตเชิงรุก” หมายความว่าประเทศไทยต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และต้องร่วมมือกับประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้ภูมิภาคนี้สงบและปลอดภัยจากความขัดแย้งจากมหาอำนาจ เนื่องจากความปลอดภัยของภูมิภาคเป็นพื้นฐานในการต่อยอดการเติบโตของเศรษฐกิจ ในขณะที่โลกยังคงเต็มไปด้วยความผันผวนมากมาย ยังมีโอกาสที่ไทยสามารถคว้าได้ และมองไปข้างหน้าทุกฝ่ายต้องจับมือกันพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่ประเทศไทย
ซึ่งความสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจระหว่างสหรัฐ และจีนเป็นไปในทิศทางบวกมากขึ้น หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พบกันในการประชุมเอเปค และ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐ พบกันที่ไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยเป็นเทรนด์ที่เกิดต่อเนื่องมา 1-2 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า การลงทุนจากจีนเข้ามาเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วน 20-30% ซึ่งแนวโน้มปี 2567 ยังมีการลงทุนจากจีนและไต้หวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังมีอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีซัพพลายเชนมาลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งการย้ายการลงทุนมาไทยสะท้อนถึงความต้องการลงทุนและสร้างซัพพลายเชนใน Safe Zone ที่ปลอดภัยและเป็นกลางที่ถือเป็นจุดแข็งของไทย ขณะเดียวกันยังมีเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นตัวเลือก
ขณะที่ “ดอกเบี้ยสูง หนี้พุ่ง อุตสาหกรรมไปต่ออย่างไร” เป็นคำถาม FTI CEO Poll ครั้งที่ 37 ในเดือน ม.ค. 2567 ที่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีความกังวลกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการชะลอการขยายธุรกิจหรือการลงทุนใหม่ เพิ่มความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งกระทบต่อกำลังซื้อสินค้าของประชาชน
เป็นไปได้หรือไม่ที่สถาบันการเงินของรัฐจะออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิตและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งพิจารณาปรับลดเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น แม้ว่า Geopolitics อาจจะส่งผลดีต่อประเทศไทย ทว่าปัจจัยภายในก็ต้องส่งผลทางบวกที่ส่งเสริมไปในแนวทางเดียวกันทั้งดอกเบี้ยนโยบายและการเมืองไทย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นตลาดเงินตลาดทุน และช่วยดึงการลงทุนจากต่างประเทศ