ยอดจดทะเบียน 'บรรทุกอีวี' พุ่งสูงกว่า 1,000% ใน 1 ปี
"ส.อ.ท." เผยยอดจดทะเบียน "รถบรรทุกอีวี" ป้ายแดงสูงขึ้นกว่า 1,020% ภายใน 1 ปี ปัจจัยมาตรการ CBAM สหภาพยุโรปบังคับ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อรถในรูปแบบไฮบริด ถือว่าประเทศไทยได้เริมผลิตมามากว่า 10 ปีแล้ว เพราะสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประเทศไทย รวมการผลิตที่ 5 หมื่นคัน
อย่างไรก็ตาม ในการผลิตถือว่าลดลง เพราะมีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปี 2567 คาดว่าจะผลิตมากขึ้น หลายบริษัทที่นำเข้ามาตั้งแตปี 2565-2566 ที่รับสิทธิประโยชน์กับรัฐบาลจะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทยในปีนี้
นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่านวาระที่ 1 เรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คาดว่าจะทันใช้เดือนพ.ค. 2567 จะทำให้การลงทุนดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงาน รายไดเดีขึ้น แต่จะยังกังวลสงครามความขัดแข้งทั้งที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งยอดขายในประเทศ และการส่งออก
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หวังว่านโยบายฟรีวีซ่าไทยกับจีนจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นตามเป้าหมาย 33.5 ล้านคน ซึ่งปี 2566 ที่คาดว่า 28 ล้านคน ก็ถือว่าได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และการย้ายฐานการผลิตนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทย ทำให้ซัพพลายเชนเติบโต การผลิตแบตเตอรี่จะตามเข้ามา เป็นช่วงภาวะการลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว บางค่ายสามารถผลิตและส่งออกจากโรงงานในไทยแล้ว
ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนมาใช้อีวี คือราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รถบรรทุกไฟฟ้า มีการจดทะเบียนมากขึ้น มีจำนวน 303 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 ที่ 1,065.38% ถือว่าเติบโตมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะทำให้ยอดขายดีขึ้น เพราะต้องบรรทุกสินค้าส่งไปที่อียู เข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอน
สำหรับจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยประจำเดือนธ.ค. 2566 มีทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือนธ.ค. 2565 ที่ 5.75% เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึง 29.94% โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP
นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 และลดลงจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 18.19% เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนธ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 10.88% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วที่ 17.48% ลดลงเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้
ทั้งนี้ เดือนม.ค. – ธ.ค. 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด -19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 11.73% เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 1,102,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.30 ส่งออกรถยนต์ HEV 14,845 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 56.02 มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.25%