เปิด 3 ข้อ 5 เงื่อนไข ‘กมธ.งบประมาณ’ วางเกณฑ์ตัด 'งบฯรายจ่ายปี 67'
เปิดหลักเกณฑ์กรรมาธิการงบประมาณ 2567 วาง 3 ข้อ 5 แนวทาง กำหนดการจัดทำงบประมาณขั้นสุดท้าย ก่อนสรุปตัวเลขงบประมาณที่จะออกเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 เน้นงบประมาณมีความพร้อม สามารถเบิกจ่ายได้ทันที ไม่ควรทำงบประมาณผูกพัน เร่งดันงบประมาณลงระบบเศรษฐกิจ
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และอยู่ระหว่างการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ใน กมธ.ฯงบประมาณปี 2567 จำนวน 9 คณะ ซึ่งคาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะประกาศใช้ในช่วงเดือน พ.ค.ปีนี้
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณได้รายงานความคืบหน้าเรื่องของการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณฯ2567โดยเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยระบุว่าตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นั้น
ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าเมื่อการพิจารณาแล้วเสร็จจะปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงได้จำนวนหนึ่ง สำนักงบประมาณจึงขอเสนอแนวทางและขั้นตอนการเสนอขอเพิ่มและ เปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
แนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2567 ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศนโยบายสำคัญของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการภายในปีงบประมาณพ.ศ. 2567 3 ข้อดังนี้
- เป็นรายจ่ายที่ต้องดำเนินการตามข้อผูกพันที่เกิดจากกฎหมาย สัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ และค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายตามสิทธิ
- เป็นรายการค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตามยุทธศาสตร์ชาติ และ/หรือนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
- เป็นรายจ่ายเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือรายจ่ายที่ประชาชนได้รับประโยชน์ โดยตรง ตลอดจนรายจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของหน่วยรับงบประมาณ โดยรายการที่เสนอขอเพิ่ม งบประมาณต้องเป็นรายการที่มีอยู่ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
โดยมีเงื่อนไขในการทำงบประมาณปี 2567 ในชั้นกมธ.ดังต่อไปนี้
- ไม่ควรทำให้เกิดภาระรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ไม่ควรผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีในปีต่อ ๆ ไป
- หน่วยรับงบประมาณมีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที
- หน่วยรับงบประมาณต้องเสนอโครงการ/รายการ ภายใต้ชอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น
- ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
ขั้นตอนการเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณ
สำหรับแนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย เฉพาะรายการที่หน่วยรับงบประมาณเสนอขอตั้งงบประมาณไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และกรณีที่มีการโอนภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ดังนี้
มีกฎหมายกำหนดให้โอนภารกิจ ทั้งกรณีที่มีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณขึ้นใหม่ และไม่มีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณ และกรณีเปลี่ยนชื่อหน่วยรับงบประมาณ
มีพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกันที่ออกตามมาตรา 8ทวิของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ดำเนินการ ดังนี้
- ให้หน่วยรับงบประมาณที่ถูกโอนภารกิจ เสนอขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องโอน
- ให้หน่วยรับงบประมาณที่รับโอนภารกิจ เสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ได้ปรับลดตามข้อ1
- ขั้นตอนในการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2567 ของหน่วยรับงบประมาณ
โดยให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ได้มีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูลแล้วว่าการดำเนินงานนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2567 กฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และส่งสำนักงบประมาณ
พร้อมทั้งบันทึกข้ออมูลรายละเอียดคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายในระบบ e – Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567กรณีการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการ ให้หน่วยรับงบประมาณ เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเห็นชอบก่อนเสนอหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อรวบรวมเสนอรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ แผนงานบูรณาการนั้น 1 พิจารณาให้ความเห็นชอบ และหน่วยงานเจ้าภาพส่งสำนักงบประมาณ พร้อมทั้ง บันทึกข้อมูลรายละเอียดคำขอเพิ่มงบประมาณในระบบ e - Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับกรณีการเสนอเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2567 ที่ได้มีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูลแล้วว่าการดำเนินงานนั้นไม่ชัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2567 กฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และรวบรวมจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานขององค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ ให้ยื่นคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567โดยตรง ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานดังกล่าวบันทึกข้อมูลรายละเอียด ตามที่ได้ยื่นคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการฯ ในระบบ e-Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วย
เพื่อสำนักงบประมาณจะได้ประมวลภาพรวมการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2567 ต่อไป
โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาและจัดทำข้อเสนอรายละเอียดการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเป็นผู้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป