มาตรการรัฐ-อาหารสดลด กดเงินเฟ้อเดือนม.ค.ติดลบ 1.11%
พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อเดือนม.ค. 67 ติดลบ 1.11% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ราคาอาหารสดลดลง คาดเดือนก.พ.ยังคงลดลง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า เงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2567 เท่ากับ 106.98 เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.18 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 1.11 % ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานราคาเดือนม.ค. 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือนม.ค.ที่ลดลงมาจากหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.13% ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 E20 E85 และค่ากระแสไฟฟ้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน) นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องตามการจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย ทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น รวมถึง สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และแชมพูสระผม ราคาปรับลดลงเช่นกัน สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระค่าแต่งผมสตรี เครื่องถวายพระ ค่าทัศนาจรต่างประเทศ บุหรี่ สุรา และไวน์ ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน
ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 1.06 % ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ผักสด (มะเขือ มะนาว แตงกวา) และผลไม้ (ส้มเขียวหวาน ลองกอง มะม่วง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว กะทิสำเร็จรูป น้ำพริกแกง กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง)
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.-มี.ค. มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 และ ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการเพิ่มขึ้น และการปรับราคาเพื่อให้มีความสมดุลและเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว หลังจากภาครัฐมีนโยบายอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาประเทศไทย ของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าไตรมาส 1 เงินเฟ้อจะติดลบ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างติดลบ 0.3 % ถึง 1.7 % ค่ากลาง 0.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง