'ปตท.' รับโจทย์ 'เศรษฐา' เร่งลงทุนต่างประเทศ
"เศรษฐา” เรียกประธานบอร์ด ปตท.และว่าที่ซีอีโอคนใหม่ หารือที่ทำเนียบ หนุนลงทุนต่างประเทศ ดันลงทุนโซล่าลอยน้ำในศรีลังกา พร้อมขอให้ช่วยผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตมากขึ้น
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจพลังงานของประเทศ ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลอีกครั้งให้มีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เชิญฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารของ ปตท.มาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 ก.พ.2567
การเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือเรื่องการลงทุนของ ปตท.ครั้งนี้มีผู้เข้าหารือ ประกอบด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คนใหม่
วันนี้ (5 ก.พ.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังเปิดเผยว่าได้หารือกับนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
นายเศรษฐา เปิดเผยว่า การหารือกับประธานกรรมการ ปตท.และว่าที่ซีอีโอ ปตท.ได้หารือถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจและมีโอกาสอย่างมากไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Solar Floating) รวมทั้งการขยายการลงทุนไปยังศรีลังกา ซึ่งต้องการการลงทุนจากประเทศไทยอย่างมาก
“หลังจากผมได้กลับมาจากการเดินทางที่ประเทศศรีลังกา ผมได้เชิญ ประธานกรรมการ ปตท.เพื่อมาพูดคุยถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และถือว่ามีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด (Solar Floating) ซึ่งประเทศศรีลังกา พร้อมเปิดรับการลงทุนจากไทยด้วย”
นอกจากนั้นได้ให้นโยบายด้วยว่าอยากให้ปตท. เข้ามาส่งเสริมธุรกิจ Start-up และการส่งเสริมผลักดันสมาคมกีฬาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งได้รับผลการตอบรับอย่างดีจากทาง ปตท.ด้วย
“เชื่อมั่นว่าจะเป็นการยกระดับของ ปตท.ไม่ใช่เป็นเพียงแค่บริษัทพลังงานในประเทศไทย แต่ยังเสริมสร้างโอกาสดีให้กับประชาชนในประเทศอีกด้วยครับ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผนึกบริษัทลูกลุย“โซลาร์ลอยน้ำ”
รายงานข่าวจากลุ่ม ปตท.ระบุว่า กลุ่ม ปตท.มีแผนการลงทุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Solar Floating) ซึ่งกลุ่ม ปตท.ดำเนินการทั้งองค์กรเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
ทั้งนี้ดำเนินการผ่านบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) บริษัทย่อยในกลุ่มบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ร่วมกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดตั้งโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำกำลังการผลิตสูงสุดที่ 21.78 กิโลวัตต์
ทั้งนี้ CHPP ได้ศึกษาพัฒนาออกแบบและก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อรองเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ณ สถาบันพัฒนาศักยภาพผู้นำและธุรกิจ (OR Academy) ของ OR
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท.ถือเป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งหมด โดยการพัฒนาโครงการจะมี CHPP ออกแบบและก่อสร้าง Floating Solar และระบบยึดโยงทุ่นลอยน้ำ และผลิตทุ่นลอยน้ำจากวัสดุ InnoPlus ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกของ GC ให้มีเสถียรภาพและความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์
ส่วนการบริหารการผลิตจะควบคุมการผลิตและบำรุงรักษาเพื่อให้มีการจัดส่งไฟฟ้าอย่างมีมาตรฐานตลอดอายุสัญญา 20 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นการเน้นย้ำอีกครั้งถึงความเป็นผู้นำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า โดยใช้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีภายในกลุ่มบริษัท ในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน
โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Solar Floating) เป็นการนำนวัตกรรมด้านพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เม็ดพลาสติก InnoPlus) ที่มีคุณสมบัติเด่นเรื่องความแข็งแรง ทนทานต่อการกระแทก ทนความร้อนและสารเคมีได้สูง มีความยืดหยุ่นสามารถขึ้นรูปทรงได้หลายรูปแบบ มาผลิต เพื่อใช้ในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Floating Solar) นับเป็นแห่งแรกในการพัฒนาวิศวกรรมพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ของบริษัทให้มีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ร่วมกัน
OR หัวหอกร่วมลงทุนสตาร์ทอัพ
ในช่วงที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.ลงทุนในสตาร์ทอัพผ่านบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เป็นส่วนใหญ่ โดยมีการจัดตั้งกองทุน “ออร์ซอน เวนเจอร์ส” (ORZON Ventures, L.P.) ด้วยงบลงทุนเบื้องต้น 1,500 ล้านบาท โดยร่วมกับกองทุน 500 TukTuks เพื่อแสวงหาและสนับสนุนสตาร์ทอัพใหม่ในระดับซีรีย์ A-B ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้น
ทั้งนี้ การลงทุนได้เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ OR และธุรกิจใหม่ภายใต้กรอบ Mobility & Lifestyle เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและสร้างความเติบโตระยะยาว
อีกทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางในการดำเนินธุรกิจของ OR ที่มุ่งเติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน ด้วยการเสาะแสวงหาธุรกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือกับคนตัวเล็ก
รวมทั้งมีสตาร์อัพที่ร่วมลงทุนโดย ORZON Ventures เช่น Pomelo แพลตฟอร์มและแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Carsome แพลตฟอร์มที่มีซื้อ-ขายรถยนต์มือสองออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Freshket แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบครบวงจร สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ HoReCa (โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง) และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป, GoWabi แพลตฟอร์มชั้นนำของไทยที่รวบรวมทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับบริการทางด้านความงามและสุขภาพ, Protomate ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยี AI สัญชาติไทยที่ได้ประยุกต์นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์