‘เศรษฐา’ พร้อมนั่งหัวโต๊ะ ‘บอร์ดระดับชาติ’ เคลื่อนโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’
“พรหมินทร์” ชี้แลนด์บริดจ์ดันสถานะไทยในฐานะประเทศเป็นกลาง เสริมดึงลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง เผยนายกฯพร้อมนั่งเป็นประธานขับเคลื่อนคณะกรรมการระดับชาติในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ยันหลายประเทศสนใจโครงการ นักลงทุนรายใหญ่สนใจเกินคาด
Key Points :
- รัฐบาลเดินหน้าโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ต่อเนื่องมาตลอด 5 เดือน
- เลขาธิการนายกฯระบุโครงการนี้ไม่ได้สำคัญเฉพาะกับเศรษฐกิจไทย แต่สำคัญต่อสถานะเป็นกลางของประเทศ
- โครงการนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากรัฐบาล และเอกชนจีน
- ในแง่การบริหารนายกฯพร้อมจะมานั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) ของรัฐบาลว่าหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางไปโรดโชว์โครงการนี้ในต่างประเทศ หลายครั้งปัจจุบันโครงการนี้ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด มีทั้งรัฐบาล และนักลงทุนจากหลายประเทศติดต่อสอบถาม และขอข้อมูลของโครงการนี้ รวมทั้งมีบางรายที่เป็นนักลงทุนที่มีการสร้าง และบริหารท่าเรือน้ำลึกหลายแห่งในโลกเข้ามาติดต่อที่รัฐบาลเพื่อที่จะเข้ามาดูพื้นที่ และขอข้อมูลโครงการเพิ่มเติมในโครงการนี้จากรัฐบาล
สำหรับการลงมาขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ของนายกรัฐมนตรีโดยตรงเพื่อให้โครงการนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้นนั้น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในที่สุดแล้วโครงการนี้นายกรัฐมนตรีจะมานั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ด้วยตัวเอง แต่ขณะนี้การทำงานเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์รัฐบาลต้องการออกไปรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ และประชาชนว่ามีความต้องการ หรือมีข้อเสนอแนะต่อโครงการนี้อย่างไรบ้าง เพื่อนำกลับมาทำเป็นข้อกำหนดและข้อกฎหมายในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้แนวคิดของโครงการแลนด์บริดจ์รัฐบาลไม่ได้เพียงแค่คิดในเรื่องของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่โครงการนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่ตั้งของประเทศไทยที่เป็นความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Advantage) ที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ระหว่างสองมหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก และมีทางออกทางทะเลทั้งสองด้าน มากำหนดโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนอกจากการคมนาคมขนส่งแล้วจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องในพื้นที่ด้วย
แลนด์บริดจ์ช่วยรักษาสถานะเป็นกลางของประเทศไทย
นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นโครงการที่ช่วยเสริมบทบาทความเป็นกลางของประเทศไทย ตามที่เราใช้นโยบายเป็นมิตรไม่ขัดแย้งกับประเทศใด หรือไม่เข้าข้างฝ่ายใด เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ตามนโยบาย สนับสนุนสันติสุข และความมั่งคั่งร่วมกัน ( peace and common prosperity) แลนด์บริดจ์จึงเป็นการสร้างเส้นทางคมนาคม และการขนส่งใหม่ทางทะเล ที่เชื่อมโยงกับทางบก
และเป็นเส้นทางกลางของภูมิภาคที่นานาชาติสามารถเข้ามาร่วมลงทุนและใช้งานได้ ซึ่งแนวคิดของโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมบทบาทในการเป็นกลางของประเทศไทยในบริบทที่หลายพื้นที่ของโลกเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สูง และความแออัดในพื้นที่ช่องแคบมะละกานั้นมีความแออัดและมีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขึ้น
ผลตอบรับโครงการสูงเกินคาด
เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในการตอบรับจากรัฐบาลและนักลงทุนต่อโครงการแลนด์บริดจ์ถือว่าสูงมาก เห็นได้จากการที่ไปโรดโชว์ทุกครั้งมีนักลงทุนเข้ามาฟังข้อมูลด้วยความสนใจจำนวนมาก นอกจากนั้นรัฐบาลจีนนั้นก็ให้ความสนใจในโครงการนี้มีการหารือและสอบถามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดในการเดินทางมาเยือนไทยของนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ก็ได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรีว่า โครงการแลนด์บริดจ์ถือว่าเป็น “โครงการกลาง” ที่อยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ที่จีนให้ความสนใจ และยินดีสนับสนุน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่จีนต้องการเร่งรัดให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาการเข้ามาพบนายกรัฐมนตรี
โดยผู้บริหารของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการหารือหลายประเด็น รวมทั้งพร้อมที่จะสนับสนุนทางการเงินเกี่ยวกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนในประเทศไทยด้วย
“โครงการนี้เป็นที่สนใจของหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล และเอกชน โดยมีเอกชนบางรายที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีประสบการณ์ในการบริหารท่าเรือมาแล้วทั่วโลก สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ โดยมั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างแน่นอน” นายพรหมินทร์ กล่าว