จับตา ‘จีน’ รุก ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อม เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21

จับตา ‘จีน’ รุก ‘แลนด์บริดจ์’  เชื่อม เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21

จับตาจีนรุกโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อม เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21 หลังไทยประกาศเดินหน้าโครงการ ล่าสุด รมว.ต่างประเทศจีน เผยรัฐบาล - เอกชน จีนสนใจขอข้อมูลเพิ่ม "เศรษฐา" ส่ง "สุริยะ" โรดโชว์ ธนาคาร AIIB พบนายกฯ หนุนเดินหน้าโครงการ

Key points :

  • รัฐบาลจีนแสดงความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์ที่ประเทศไทยประกาศเดินหน้าก่อสร้างภายในปี2568
  • ล่าสุดรมว.ต่างประเทศ บอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่รัฐบาลและเอกชนจีนให้ความสนใจ 
  • นายกรัฐมนตรีสั่ง รมว.คมนาคม ไปโรดโชว์ให้ข้อมูลเพิ่มที่จีน 
  • ผู้บริหารธนาคาร AIIB ที่ก่อตั้งโดยจีน และจีนยังถือหุ้นใหญ่ พบนายกฯไทยลั่นพร้อมสนับสนุนโครงการ

 

แม้ว่าแนวคิดเรื่อง เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) จะไม่ใช่แนวคิดใหม่เนื่องจาก สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนนั้นได้ประกาศแนวคิดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2013 และเชิญผู้นำจากนานาชาติไปประชุมหารือเกี่ยวกับการลงทุนด้านคมนาคมที่ครอบคลุม 65 ประเทศ ใน 3 ทวีปอยู่เป็นระยะๆในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในขณะนี้ เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21 มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากขึ้นเมื่อรัฐบาลของไทยกำลังผลักดันให้มีการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท

จับตา ‘จีน’ รุก ‘แลนด์บริดจ์’  เชื่อม เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21

แลนด์บริดจ์จะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมใหม่

แน่นอนว่าโครงการนี้อยู่ในความสนใจของรัฐบาล และนักลงทุนจีนเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างในพื้นที่ภาคใต้ของไทยซึ่งหากดูจากแผนที่ของเส้นทางสายไหมเส้นใหม่นั้นที่ตั้งของประเทศไทยเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมจากจีนตอนใต้ลงมาสู่มหาสมุทร และเชื่อมลงมาถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์

 

ลำดับการพูดคุยแลนด์บริดจ์ไทย-จีน 

หากจำได้ตั้งแต่ไทยประกาศเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์หัวข้อเรื่องนี้เป็นประเด็นการพูดคุยระหว่างไทยและจีน ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.2566 ที่นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งครั้งนั้นก็มีการหยิบยกประเด็นเรื่องแลนด์บริดจ์ขึ้นมาพูดคุยกัน

 

จับตา ‘จีน’ รุก ‘แลนด์บริดจ์’  เชื่อม เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21

ต่อมาในการเดินทางไปร่วมประชุม  หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 และเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี และคณะ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายหลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีงจีน ซึ่งพูดถึงความร่วมมือในการความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูง พร้อมเกื้อหนุนการค้าและการลงทุนสองทาง และเสริมสร้างความร่วมมือกับไทยในด้านต่างๆ ต่อไป เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ยานยนต์พลังงานใหม่ พลังงานสะอาด และ 5G นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มีการเปิดเวทีโรดโชว์เรื่องแลนด์บริดจ์ให้นักลงทุนจีนได้รับทราบข้อมูลแลนด์บริดจ์ด้วย

ต่อมาในเดือน พ.ย.ปีก่อนในการหารือกับทูตฯจีนประจำประเทศไทยอีกครั้ง นายกฯรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าโครงการแลนด์บริดจ์ นั้น นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้ความสนใจ และได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เดินทางไปจีน เพื่ออธิบายให้ฟังอย่างละเอียดให้เข้าใจมากขึ้น และพูดคุยว่าจะสามารถร่วมกันพัฒนาหรือลงทุนอย่างไรบ้าง

ล่าสุดในการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศของจีนนั้นก็มีความคืบหน้าที่สำคัญเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่นายกรัฐมนตรีของไทยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่ารัฐบาล และเอกชนของจีนให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์อย่างมาก และต้องการข้อมูลเพิ่ม ตนจึงสั่งการให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม รีบเดินทางไปจัดโรดโชว์ที่ประเทศจีนอีกครั้งเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้และเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย

 

เลขาธิการนายกฯยันรัฐบาล - เอกชน จีน สนใจโครงการ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารมว.ต่างประเทศของจีนนั้นได้กล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่าจีนให้ความสนใจโครงการนี้ และถือว่าเป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟไทยจีนที่ปัจจุบันก่อสร้างมาถึง สปป.ลาวแล้ว ซึ่งจีนเรียกเส้นทางนี้ว่าเป็น “เส้นทางกลาง” ที่ต้องมีการเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้เชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคทั้งทางทะเลและทางบก

จับตา ‘จีน’ รุก ‘แลนด์บริดจ์’  เชื่อม เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21

 

“วันนี้ความสนใจที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อโครงการแลนด์บริดจ์นั้นถือว่าเกินคาด นอกจากจีนที่สนใจโครงการนี้มากเห็นได้จากการที่ผู้นำทั้ง 3 ระดับของจีนทั้ง ประธานาธิบดี นายกฯ และ รมว.ต่างประเทศจีน พูดถึงการสนับสนุนโครงการนี้  ยังมีอีกหลายประเทศที่ขอข้อมูล หรือบางรายที่เป็นรายใหญ่ก็ติดต่อว่าจะเดินทางเข้ามาดูที่พื้นที่ซึ่งจะก่อสร้างด้วยตัวเอง”

 

ทั้งนี้สัญญาณอย่างหนึ่งว่าจีนนั้นเอาจริงเอาจังและให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์อีกข้อหนึ่งก็คือการที่ผู้บริหารระดับสูงของ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank ) หรือ “AIIB” เดินทางมาหารือกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากที่ รมว.ต่างประเทศของจีนพบกับ นายกรัฐมนตรีของไทยเพียง 2 วัน ทั้งนี้ธนาคาร AIIB นั้นถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการปล่อยเงินกู้ในการพัฒนาและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งในเอเชีย โดยจีนเป็นประเทศผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ และปัจจุบันถือหุ้นใหญ่ในธนาคารแห่งนี้ ร่วมกับสมาชิกอีกหลายประเทศ

จับตา ‘จีน’ รุก ‘แลนด์บริดจ์’  เชื่อม เส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ทวิตข้อความใน X ว่า

“เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย President ของ AIIB เห็นด้วยว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ ถ้าไทยได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ซึ่ง AIIB ยินดีสนับสนุนการระดมทุนเพื่อลงทุนในเมกะโปรเจกต์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลนด์บริดจ์หรือโครงการสร้างสนามบินต่าง ๆ ครับ”

คงต้องจับตาดูต่อไปว่าบทบาทของจีนในการสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะก่อสร้างในไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วประเทศไทยจะบริหารจัดการ ถ่วงดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจที่เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในบริเวณนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อเนื่องในระยะยาว เพราะโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้เป็นเพียงโครงการทางด้านการคมนาคมขนส่งเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่มีมิติเกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย