WHA เปิดแผนปี 67 หนุนแกร่ง 4 ธุรกิจ ดันรายได้โต 2 ดิจิต ปลื้มปี 66 ทำนิวไฮ 2 ปีติด
“WHA” เปิดแผนปี 67 หนุนแกร่ง 4 กลุ่มธุรกิจ คาดรายได้โต 2 ดิจิต ปลื้มผลประกอบการปี 66 ทุบสถิตินิวไฮ 2 ปีติด คาดมีรายได้รวม และส่วนแบ่งกำไรปกติ 17,200 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 11% รักษาระดับอัตรากำไร EBITDA กว่า 40% วางงบลงทุน 5 ปี กว่า 7.8 หมื่นล้าน
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า แผนดำเนินงานปี 2567 มุ่งพัฒนา และยกระดับศักยภาพในทุกด้านเพื่อการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ควบคู่กับการสร้างความพร้อมในการรับมือทุกความท้าทาย และก้าวสู่เป้าหมายใหม่ต่อไปในอนาคต และตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ปีนี้เบื้องต้นที่ตัวเลข 2 หลัก และรายได้ 5 ปี 1 แสนล้านบาท
ในขณะที่ผลประกอบการ ปี 2566 ทำลายสถิตินิวไฮเป็นปีที่ 2 สามารถปิดดีลสัญญาซื้อขายที่ดินรวม 2,767 ไร่ และพื้นที่เช่าโครงการโรงงาน - คลังสินค้า 242,000 ตารางเมตร คาดมีรายได้รวม และส่วนแบ่งกำไรปกติ 17,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 11% และสามารถรักษาระดับอัตรากำไร EBITDA ที่มากกว่า 40% พร้อมวางงบลงทุน 5 ปี (ปี 2567 - 2571) กว่า 78,700 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ยังคงเดินหน้าพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจ และอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเป็น Technology Company อย่างเต็มตัว ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ คือ Extend Leadership เร่งขยายธุรกิจต่อเนื่องทั้งในประเทศ และตลาดภูมิภาค Embrace Innovation and Technology นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New S-curve ให้กับองค์กร Enhance the Prominence on Green and Sustainability เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2593 (Net-Zero 2050) และ Build High-Performance Organization ด้วยการพัฒนายกระดับด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง
สำหรับการดำเนินงาน 4 กลุ่มธุรกิจหลักประกอบด้วย
1. ธุรกิจโลจิสติกส์ ในปี 2566 เติบโตอย่างโดดเด่น โดยลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 242,000 ตารางเมตร ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้มีพื้นที่ คลังสินค้ารวม 2,945,000 ตารางเมตร และยังมีการขายสิทธิการเช่า ทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART จำนวน 142,900 ตารางเมตร มูลค่ารวม 3,566 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชันส์ จำกัด (GCL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ในสัดส่วน 50% มูลค่า 2,640 ล้านบาท เป็นอีกความสำเร็จเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนยกระดับการให้บริการกับลูกค้า
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงมุ่งเน้นการเดินหน้าขยายธุรกิจในการพัฒนาโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีโครงการ Green Logistics ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุน และเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภาคขนส่งของประเทศ โดยปี 2566 มีลูกค้าเซ็นสัญญาเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 25 คัน และตั้งเป้าหมายที่จะเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 1,000 คัน ในปี 2567
สำหรับการเติบโตในปี 2567 บริษัท วางเป้าหมายส่งมอบโครงการ และสัญญาใหม่เพิ่มขึ้น 200,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นประเทศไทย 165,000 ตารางเมตร และเวียดนาม 35,000 ตารางเมตร และคาดว่าสินทรัพย์รวมภายใต้กรรมสิทธิ์ และการบริหารจะเพิ่มถึงระดับ 3,145,000 ตารางเมตร และมีแผนการขายสิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ WHAIR ประมาณ 213,000 ตารางเมตร มูลค่าราว 5,290 ล้านบาท
2. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในปี 2566 มียอดขายที่ดินรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2,767 ไร่ แบ่งเป็นประเทศไทย 1,986 ไร่ และเวียดนาม 781 ไร่ ไฮไลต์สำคัญคือ การลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินกับฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 และการลงนามในสัญญาเช่าที่ดินในเวียดนามกับฟู่ วิง อินเตอร์คอนเนค เทคโนโลยี (เหงะอาน) ในเครือฟ็อกซ์คอนน์ อินเตอร์คอนเนค เทคโนโลยี 300 ไร่
โดยในปี 2567 บริษัท มีโครงการพัฒนานิคมฯ ใหม่และขยายนิคมฯ ในประเทศไทยรวม 7 โครงการ บนพื้นที่ 10,000 ไร่ ในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้มีพื้นที่นิคมฯ รวมกว่า 52,000 ไร่ ในปี 2570 โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) อย่างต่อเนื่อง โดยขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 องค์ประกอบสำคัญ คือ
Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, Smart Water และ Smart Security ภายใต้การบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมกลาง (Unified Operation Center) และต่อยอดการเป็น Total Solutions Partner ให้กับลูกค้า ด้วยการให้บริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บริการด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โทรคมนาคม ในประเทศเวียดนาม นอกจากเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน ซึ่งเฟส 1 ประสบความสำเร็จอย่างมากมีผู้เช่าไปแล้วกว่า 77% และอยู่ระหว่างการพัฒนาเฟส 2 บริษัท ยังมีแผนการที่จะขยายเขตอุตสาหกรรมอีก 3 โครงการ บนที่ดินรวมกว่า 22,813 ไร่
สำหรับเป้าหมายในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ดินทั้งในประเทศไทย และเวียดนาม รวม 2,275 ไร่ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายในปี 2566 ที่ตั้งไว้ 1,750 ไร่ ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทสามารถทำยอดขายที่ดินสูงกว่า เป้าหมายถึง 58% อยู่ที่ 2,767 ไร่
3. ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) มีการเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณยอดขายน้ำและบำบัดน้ำเสียในประเทศไทยรวม 121 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นการเติบโต 4% ปริมาณยอดขายน้ำดิบ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณยอดขาย และบริหารน้ำในเวียดนาม อยู่ที่ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 18%
ปี 2567 ตั้งเป้ายอดการจำหน่าย และบริหารจัดการน้ำรวมที่ 178 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นภายในประเทศ 142 ล้านลูกบาศก์เมตร และในเวียดนาม 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ บริษัท ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงเดินหน้าพัฒนา Smart Water Platform และมองหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ๆ อาทิ โซลูชันสิ่งแวดล้อม และสาธารณูปโภคสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ
สำหรับธุรกิจไฟฟ้า ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัท มีการเซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม 42 สัญญา 50 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้สิทธิเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เฟส 1 จำนวน 5 โครงการ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์
สำหรับปี 2567 บริษัทจะเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันพลังงาน ได้แก่ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า และการซื้อขายใบรับรองเครดิต การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เป็นต้นตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมที่ลงนามแล้วเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากพลังงานหมุนเวียน 453 เมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 283 เมกะวัตต์
4. ธุรกิจดิจิทัล ยกระดับองค์กรในทุกมิติเพื่อบรรลุเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 นี้ ภายใต้ภารกิจ “Mission To The Sun” ตั้งแต่โครงการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลต่างๆ การสร้างผลิตภัณฑ์ และมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เสริมศักยภาพของระบบนิเวศทางธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับโครงการ Green Logistics โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวมบริการต่างๆ อาทิ Super Driver App สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าภาคธุรกิจ เช่น การบริหารยานพาหนะ Fleet Management การวางแผนเส้นทาง Route Optimization และการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า EV Roaming เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2593 (100% Circularity by 2050) ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 3 หลักการ ได้แก่ Design & Resource, Green Products และ Operation Excellence โดยในปี 2566 กลุ่มธุรกิจทั้ง 4 ได้มีการนำเสนอโครงการ Circular Economy ไม่น้อยกว่า 40 โครงการ
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลพยายามผลักดันนั้น ส่วนตัวมองว่าหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ เพราะจะไม่ใช่แค่การเกิดท่าเรือแต่จะสามารถต่อยอด เป็นอุตสาหกรรมขนส่งได้
สำหรับความล่าช้ากรณีที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด บริษัทในเครือซีพี ซึ่งได้รับสัมปทานการลงทุน และเดินรถไฟความเร็วสูงในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แต่ไม่ได้รับการต่ออายุ บัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังจากหมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2567 อาจส่งผลให้มีความล่าช้าต่อการลงทุน ส่วนตัวมองว่าไม่ได้กระทบต่ออีอีซีหรือกับบริษัทฯ โดยตรง แต่จะกระทบต่อการเดินทางของคนมากกว่า
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์