'กรมเชื้อเพลิง' แนะรัฐบาลเร่งเจรจากัมพูชา ดึงก๊าซพื้นที่ทับซ้อนใน 10 ปี
"กรมเชื้อเพลิง" แง้ม ก๊าซอ่าวไทยเริ่มลดลง รัฐบาลต้องเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน "ไทย-กัมพูชา" เร่งดึงก๊าซในช่วง 10 ปีนี้ หากรอสัญญาก๊าซในอ่าวไทยหมด ต้องลงทุนมหาศาล
นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงานระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) หากรัฐบาลสำเร็จโดยเร็วจะสามารถดำเนินการสำรวจขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมได้เร็วขึ้น อีกทั้งจะไม่ต้องรื้อถอนแท่นผลิตและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ให้เสียทั้งเงินและเวลาซึ่งคุ้มกว่ามากเพราะหากต้องลงทุนใหม่จะต้องใช้เงินมาก ดังนั้น ก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนจะเข้ามาเสริมในช่วงที่ก๊าซในอ่าวไทยกำลังจะหมดสัญญาและปริมาณลง ถือเป็นจังหวะที่ดี
"เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ถือเป็นเรื่องการหารือกันระกหว่างนายกฯ ของทั้ง 2 ประเทศ เข้าใจว่ามีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนในแนวทางเดียวกันทั้งฝ่ายความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน ที่ทุกคนมองว่าเรื่องพลังงานมีความจำเป็น ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายเพื่ออิงประโยชน์สูงสุดของประเทศ ส่วนระยะยเวลาอาจต้องรอทางสำนักนายกรัฐมนตรีทำเรื่องของความร่วมมือ"
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพทางเทคนิคยังเชื่อว่ามีก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนอยู่ในระดับเดียวกับอ่าวไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2518 มีมติให้ยุติการสำรวจเพราะอาจไม่มีอะไรการันตีชัดเจน แต่ดัวยธรณีวิทยาคาดว่ายังมีทรัพยากร
"ส่วนผู้รับสัมปทานเดิมที่เคยให้ได้ ปี 2514 ในลักษณะสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนก็ยังคงอยู่ หากเจรจาสำเร็จการจะให้ผู้รับสัมปทานเดิมดำเนินการต่อหรือจะเป็นแบบไหนรัฐบาลอาจจะต้องหารือทั้งเอกชนผู้ได้รับสัมปทานร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ขั้นตอนแรกนี้คือการเจรจาให้สำเร็จก่อน ซึ่งหน้าที่กรมฯ พร้อมเดินหน้าตามกฎหมาย ทั้งการแบ่งสรรปันส่วนปิโตรเลียม การจัดตั้งโครงสร้าง รวมถึงนำเสนอสภาทั้ง 2 ฝ่าย"
สำหรับในปี 2567 กรมฯ ได้เตรียมแผนงานเชิงรุกในการจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ โดยเร่งรัดการลงทุนของผู้รับสัญญาในแปลง G1/61 เพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าในปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนเม.ย. 2567 พร้อมประสานผู้รับสัมปทาน และผู้รับสัญญาแหล่งอื่น ๆ ให้ผลิตตามความสามารถ ตลอดจนจัดหาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนั้น กรมฯ ยังมีภารกิจสำคัญในการจัดหาพลังงานจากแหล่งใหม่ในประเทศเพิ่มเติม ด้วยการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงบนบก (ครั้งที่ 25) จำนวน 9 แปลง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการออกประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ โดยพื้นที่แปลงสำรวจบนบกจำนวน 9 แปลง อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง และอีก 2 แปลงอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง รวมขนาดพื้นที่ 33,444.64 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะสำรวจพบปิโตรเลียม ทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบ
"ตอนนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามเพื่อประกาศเชิญชวนนักลงทุนเข้าร่วมประมูล คาดว่าเมื่อประกาศแล้วจะเริ่มเปิดให้ศึกษาข้อมูลโดยจะใช้เวลาราว 6 เดือนก่อนยื่นข้อเสนอ"
ส่วนการกํากับดูแลการพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCUS) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยในปีนี้ กรมฯ จะเดินหน้าการจัดทําร่างกฎหมายโดยกำหนด หลักเกณฑ์ และแนวทาง ในการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
นอกจากนี้ กรมฯ จะหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการจูงใจในการสนับสนุนการลงทุนในด้าน CCUS ในอนาคต มีการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งความร่วมมือภายในประเทศ ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรของกระทรวงพลังงาน และ ภาคเอกชนที่สนใจ และความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือด้านพลังงาน ไทย-ญี่ปุ่น และ ไทย-สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
สำหรับภาพรวมการจัดหาและการใช้ปิโตรเลียมในประเทศ มีการจัดหาได้วันละ 1.99 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยผลิตในประเทศได้ 5.6 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือสัดส่วน 28% และที่เหลือยังต้องนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 72% ในปี 2566 สามารถจัดเก็บรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ส่วนแบ่งกำไรของรัฐ เงินผลประโยชน์ ตอบแทนพิเศษ รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และอื่น ๆ รวมมูลค่า 76,270 ล้านบาท และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง มูลค่า 44,165 ล้านบาท รวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท