“การเงิน-นวัตกรรม” ต่อยอด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
"อีอีซี-ส.อ.ท." ผนึกกำลังสนับสนุนด้าน “การเงิน-นวัตกรรม” ต่อยอดผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ EEC
การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของได้เข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับประเทศ และการขับเคลื่อนอุตสหกรรมเป้าหมายจะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผนการพัฒนาภาคตะวันออกที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำหนดไว้รวม 12 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, การแปรรูปอาหาร
การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, การแพทย์ครบวงจร, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัล, การป้องกันประเทศ, การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
สกพอ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการใน EEC ให้มีศักยภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ตอบโจทย์และยกระดับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ให้มีความเป็นสากล
อีกทั้งยังร่วมเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนโครงการที่มีความสำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศรองรับการลงทุนให้พื้นที่อีอีซี สำหรับความร่วมมือตาม MOU ครั้งนี้ อีอีซี และ ส.อ.ท. จะร่วมดำเนินการใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1.ผลักดันผู้ประกอบการใน EEC ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของ SMEs หรือ Startup ที่เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และต่อยอดธุรกิจในอนาคต และร่วมจัดกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Network)
2.ร่วมกันผลักดันให้ผู้ประกอบการในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ประกอบการ Startup ให้สามารถรับเงินทุนสนับสนุนผ่านกองทุนอินโนเวชั่นวัน (Innovation One) หรือจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสตาร์ทอัพไทย และต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง
3.ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการทั้ง Project-Based และ Flagship Projects ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของ EEC พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพ
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ จะเป็นกลไกที่สำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) ตลอดจนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมและบริการให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
"จะเป็นการเสริมสร้างความพร้อมของห่วงโซ่การผลิต (Production Chain) และ Supply Chain ยกระดับให้มีความเป็นมาตรฐานและมีความเป็นสากล ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการชักชวนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ EEC เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ที่ โดยปี 2566 มีมูลค่าการลงทุน 38,613 ล้านบาท และมีสมาชิก ส.อ.ท.ในพื้นที่ดังกล่าว 1,209 ราย ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ ส.อ.ท.พร้อมสนับสนุนด้านข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการของเครือข่ายสมาชิก ใน 46 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 76 จังหวัด ให้ผู้ประกอบการใน EEC เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและยกระดับภาคอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม สู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ONE FTI
"ปัจจุบัน ส.อ.ท.ตั้งโครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน ซึ่งสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และพร้อมนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการในภาคอุตสาหกรรม”