บีโอไอ – อีอีซี หนุนเดินหน้า “อีวี” พลิกโฉมการลงทุนไทย
ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก รวมถึงในประเทศไทยชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของ “รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า” หรือ รถ EV (Electric Vehicle) หลากหลายแบรนด์จากต่างประเทศ
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เห็นได้จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 ธ.ค.66เห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่เสนอผลักดันไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคตามนโยบาย 30@30
ปูทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน
ครม.ยังเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) วางเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 830,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 454,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 346,000 คัน และรถกระบะไฟฟ้า 30,000 คัน รวมถึงเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง
มาตรการ EV 3.5 จะให้สิทธิประโยชน์ 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุนสูงสุด 100,000 บาท/คันตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูปไม่เกิน 40% และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% โดยผู้ได้รับการสนับสนุน ต้องผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570
ที่ผ่านมา บีโอไอร่วมกับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของมาตรการ EV 3.5 ขณะที่บีโอไอได้อนุมัติโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท จากทั้งค่ายรถยนต์จากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป รวมมูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี 26 โครงการ จาก 35 บริษัท เงินลงทุนรวม 21,820 ล้านบาท และกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า 7 โครงการ จาก 7 บริษัท เงินลงทุน 4,200 ล้านบาท โดยมีหัวจ่ายไฟฟ้ารวม 11,300 หัวจ่าย
ในส่วนของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซีก็ผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีโดยเฉพาะคลัสเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็เร่งสร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยการให้สิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การอำนวยความสะดวกการลงทุน การขอใบอนุญาตต่าง ๆ และการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร
จากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ การเพิ่มขึ้นของสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า ความหลากหลายของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและระดับราคาเข้าถึงได้ คาดว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และต่อเนื่องไปยังนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี โลจิสติกส์ที่ให้บริการขนส่งรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าจากการติดตั้งระบบตามบ้านเรือนและสถานีบริการต่าง ๆ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้ให้บริการพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์
การเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปไปเป็นรถพลังงานไฟฟ้ากำลังจะเกิดขึ้น ขึ้นกับความเร็วในการปรับตัวของค่ายรถยนต์แต่ละราย การดึงบริษัทรถยนต์รายใหม่ๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศเพิ่มเติม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งระยะทางไกลมากขึ้นและมีราคาถูกลง ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนพลิกโฉมการลงทุนไทยครั้งสำคัญจากอิสเทิร์นซีบอร์ดไปสู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่อีอีซี