‘ธรรมนัส’ สั่งเก็บภาษีนำเข้า สกัดสินค้าสัตว์น้ำเถื่อนทะลักล้นตลาด
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล เห็นชอบเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ แก้ปัญหาสินค้านำเข้าล้นตลาด ทำราคาในประเทศตกต่ำ พร้อมให้แปลงสินทรัพย์ภาคการประมงเป็นทุน นำร่องกุ้งทะเลในบ่อดิน การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงปลานิล
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2567 ว่า ได้หารือถึงปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากการนำเข้าที่ปัจจุบัน ในส่วนของสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมประมง ในได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่นำเข้าผิดกฎมาย ตามแนวชายแดน และสำแดงเท็จ
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์น้ำหรือซากสัตว์น้ำ เป็นไปตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
และสามารถนำค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้มาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการ รวมถึงการควบคุมตรวจสอบการนำสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้ มอบหมายกรมประมงพิจารณาอัตราจัดเก็บที่เหมาะสมและดำเนินการเสนอกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ตามลำดับขั้นตอนต่อไป
“กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าผลักดันการปรับปรุงข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายประมงเพื่อให้มีความเหมาะสม เพื่อเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและดำรงอาชีพประมงให้อยู่กับคนไทยและประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยกฎระเบียบในข้อใดที่เป็นอุปสรรคและทำให้พี่น้องชาวประมงได้รับผลกระทบ ที่ประชุมได้นำมาพิจารณาหารือร่วมกันทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ซึ่งการทบทวนปรับปรุงกฎหมายรองนั้นที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่าไม่มีขัดต่อหลักการต่อต้านการประมงไอยูยู
สำหรับปัญหาสินค้าประมงตกต่ำ เราได้มีมาตรการในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยใช้มาตรการสากลทั่วไป พร้อมทั้งมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ อาทิ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคระบาดสัตว์ ตลอดจนยังคงยกระดับความเข้มข้นในการปราบปราบสินค้าเถื่อนอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่
1. ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดขนาดเรือและเครื่องมือทำการประมงบางประเภท เป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. …. ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวเป็นการปรับปรุงข้อกำหนดของเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ให้มีความเหมาะสม และเป็นไปตามหลักการที่ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการการขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ประกาศฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญที่ครอบคลุม ประกอบด้วย 1) ยกเลิกการกำหนดกำลังแรงม้า 280 แรงม้าขึ้นไป เป็นประมงพาณิชย์ 2) ยกเลิกการกำหนดเครื่องมือประมงพาณิชย์ จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากระตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกล และ 3) ยังคงกำหนดให้เรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) เป็นประมงพาณิชย์ดังเดิม เพื่อป้องกันการล่อสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่ง และมอบหมายกรมประมงดำเนินการเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อออกประกาศตามขั้นตอนต่อไป
2. ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดขนาดหรือลักษณะของเรือประมงพื้นบ้าน และเครื่องมือทำการประมงที่ต้องขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน พ.ศ. .… เพื่อให้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ปรับปรุงชนิดเครื่องมือที่ต้องมาขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน จากเดิม 7 ชนิด เพิ่มเป็น 9 ชนิด ได้แก่ 1) อวนลากแผ่นตะเฆ่ 2) อวนลากคานถ่าง 3) อวนล้อมจับ 4) อวนล้อมจับปลากะตัก 5) อวนครอบปลากะตัก 6) อวนช้อนหรือยกปลากะตัก 7) คราดหอยแครง 8) คราดหอยลาย 9) คราดหอยอื่น ให้ได้รับใบอนุญาตและยังคงมีประสิทธิภาพในการควบคุมการทำการประมง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 1. ความก้าวหน้า การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีการบัญญัติใช้บังคับอยู่แล้ว การปรับปรุงอัตราโทษให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคม และดำรงไว้ซึ่งการประกอบอาชีพประมงโดยสุจริตของชาวประมง โดยยังคงหลักการควบคุม การบริหารจัดการการทำการประมง การรายงานการทำการประมง โดยไม่ขัดต่อหลักการต่อต้านการประมง IUU อนุสัญญาและพันธกรณีระหว่างประเทศ มีเจตนารมย์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการประมง และเพื่อเป็นการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทย
โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ต่อมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เพื่อตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีมติเห็นชอบร่างฯ และเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาตามกลไกในรัฐสภา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุม ยังเห็นชอบให้แปลงสินทรัพย์ภาคการประมงเป็นทุน ให้เกิดมูลค่า โดยเตรียมนำร่องใน กุ้งทะเลในบ่อดิน การเลี้ยงปลาในกระชังและการเลี้ยงปลานิล โดยมอบหมายกรมประมงจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ภาคการประมงเป็นทุน และนำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเลในการประชุมครั้งถัดไป
และ รับทราบผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อเสนอนโยบายการประมงทะเลและพัฒนาคุณภาพชีวิตประมงพื้นบ้าน โดยเห็นชอบในหลักการโครงการปรับปรุง ซ่อมแซมท่าเทียบเรือประมง ซึ่งกำหนดกรอบการดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมท่าเทียบเรือประมง จากโครงการพัฒนาประมงทะเลชายฝั่งพื้นบ้าน 2530 - 2539 และโครงการฟื้นฟูทะเลไทย ปี 2540 - 2544 จำนวน 50 แห่ง (10 แห่ง/ปี) ระยะเวลา 5 ปี และให้กรมประมงเริ่มดำเนินการนำร่องใน 4 พื้นที่ ดังนี้ 1) บ้านทุ่งน้อย ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2) บ้านในถุ้ง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 3) บ้านทับเหนือ ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง และ 4) บ้านตะโละใส ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล (คานเรือชาวประมงพื้นบ้าน)