'เอ็กโก' ลุยลงทุนปี 67 กว่า 3 หมื่นล้าน ดันกำลังไฟใหม่ 1,000 เมกะวัตต์
“เอ็กโก กรุ๊ป” ตั้งงบลงทุนปี 67 กว่า 3 หมื่นล้าน เพิ่มกำลังการผลิตใหม่ 1,000 เมกะวัตต์ คาดปิดดีล M&A ปีนี้อย่างน้อย 3 ดีล ลุยลงทุน “หยุนหลิน” ครบ 80 ต้น มั่นใจรายได้ปีนี้เติบโต เนื่องจากโครงการใน 8 ประเทศเริ่มรับรู้รายได้มากขึ้น กระแสเงินสดเพียงพอระดับ 2-3 หมื่นล้าน
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group กล่าวว่า ตั้งเป้างบลงทุนปี 2567 ประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านการทำดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) เข้ามาเพิ่มเติม จากกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 6,996 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
ทั้งนี้ แบ่งกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,440 เมกะวัตต์ (คิดเป็นสัดส่วน 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและในทะเล เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โดยโรงไฟฟ้าและโครงการต่าง ๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถปิดดีลให้ได้อย่างน้อย 3 ดีลในปีนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (TPN) โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (EGCO Rayong) บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน (Peer Power) บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Innopower) และตั้งเป้าหมายบรรลุ Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050
“เราจะพยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน โดยไม่เพิ่มถ่านหิน ยืนยันว่าการบริหารสภาพคล่องไม่มีปัญหา มีกระแสเงินสดในมือระดับ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยปีที่แล้วตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าใหม่ 1,000 เมกะวัตต์ แต่ก็ทำได้ ราว 800 เมกะวัตต์ ส่วนเงินลงทุนใช้ไปที่ 2.5 หมื่นล้านบาท”
สำหรับกลยุทธ์จะมุ่งเน้นการขยายการลงทุนในต่างประเทศทั้งโครงการโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม (Conventional) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable) โดยเน้นร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์เดิม ด้านโครงการพลังงานลมในช่องแคบไต้หวัน (หยุนหลิน) ขนาดกำลังการผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ครบจำนวน 80 ต้น ได้ภายในปีนี้ หลังจากที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันสามารถติดตั้งได้แล้วจำนวน 45 ต้น และมีการซื้อขาย COD แล้ว 33 ต้น
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (RISEC) ประเทศสหรัฐฯ ขนาดกำลังการผลิตรวม 609 สามารถปิดดีลซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% ไปแล้วเมื่อเดือนมี.ค. 2566 ที่ผ่านมา
รวมถึงการเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ในพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ (Compass Portfolio) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CCGT) จำนวน 3 แห่งในสหรัฐอเมริกา กำลังการผลิต 1,304 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมาร์คัส ฮุก ขนาด 912 เมกะวัตต์ในรัฐเพนซิลเวเนีย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมิลฟอร์ดขนาด 205 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไดตันขนาด 187 เมกะวัตต์ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว และส่วนไฟฟ้าที่เหลือก็ขายในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) และนิวอิงแลนด์ (ISO-NE)
“ปีนี้คาดว่าจะยังคงเติบโต โดยจะค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบ เพราะต้องเข้าใจในแง่ของการบลงทุนที่ช่วงแรกพลังงานสะอาดจะยังไม่สามารถสร้างกำไร เราจึงตั้งเป้าปี 2030 จะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เป็น 30% จากปัจจุบัน 21% เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ Conventional 70% จากการแสวงหาโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะในต่างประเทศจะยังมุ่งเน้นโรงไฟฟ้าแบบดั่งเดิม เนื่องจากยังมีความจำเป็นต่อระบบไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพ”
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า มีแผนที่จะขยายโครงการพลังงานหมุนเวียนของบริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เอ็กโก กรุ๊ปถือหุ้นอยู่ 17.46% ซึ่งรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 2 โรงไฟฟ้าของเอเพ็กซ์กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7 โครงการ ดังนั้น ด้วยคาร์ปาซิตี้พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ มีมากกว่า 6 หมื่นเมกะวัตต์ บริษัทฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะเพิ่มสัดส่วนตรงนี้
"ปีนี้เริ่มรับรู้รายได้ทั้ง 8 ประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้น ความต้องการใช้ไฟเพิ่มขึ้น การลงทุนทั้ง 8 ประเทศ ยังเป็นเป้าหมายสำคัญโดยจะเน้นจับมือกับพาสเนอร์ขยายโอกาส เพราะมีที่จะหมดสัญญาก็ต้องทำงานดับเบิ้ล ส่วนปัญญหาไต้หวันกับจีน เราได้สอบถามทางโครงการแล้วไม่ได้ตรึงเครียดอะไรเพราะอยู่แบบนี้มา 30 ปีที่เน้นการค้า อีกทั้ง จีนไม่น่าจะเพิ่มปัญหาอะไรเพราะจะโฟกัสการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า"
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของเศรษฐกิจโลกสำคัญ หลายเรื่องเหนือความคาดหวัง ถือเป็นอุปสรรคทั้งโลกโดยเฉพาะผลกระทบต่อราคาพลังงานซึ่งยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดส่วนเศรษฐกิจในประเทศไทย มองว่าตามแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (แผน PDP) นั้น แม้ปัจจุบันกำลังผลิตในระบบจะเยอะ หากมองไป 2-3 ปีนี้ก็จะไม่พอ หากเศรษฐกิจมีการเติบโต รวมถึงอุตสาหกรรมที่ปลี่ยนแปลงไปในหลายอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์มาเป็นมอเตอร์ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าก้าวกระโดด ในทุกอุตสาหกรรมจะทำให้ดีมานด์ไฟฟ้ามากขึ้น มาจิ้นอาจจะลดลง