สทนช. ร่วมกรมชลป้องน้ำเค็มรุกสถานีสูบน้ำสำแล
สทนช. กำชับกรมชลประทาน เพิ่มการระบายน้ำ รับมือน้ำทะเลหนุนสูง18 ก.พ. นี้ หวั่นน้ำเค็มกระทบสถานีสูบน้ำดิบสำแล พร้อมถก กฟผ. ปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ว่า สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์น้ำเค็มจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงอย่างใกล้ชิด โดยคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงวันที่ 18 ก.พ. นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งต้นทางการผลิตน้ำประปาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สทนช. จึงได้บูรณาการร่วมกับกรมชลประทานในการปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนเข้าช่วยผลักดันน้ำเค็มตั้งแต่วันนี้ ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลเข้าสู่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ในช่วงวันที่ 17 ก.พ. 67 เพื่อเป็นการเตรียมรองรับสถานการณ์ล่วงหน้า โดยจะช่วยให้สถานีสูบน้ำดิบสำแลมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 90 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที สามารถช่วยรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตน้ำประปา พร้อมกันนี้ สทนช. ได้มอบหมายให้การประปานครหลวงกับกรมชลประทานเตรียมพร้อมปฏิบัติการ Water Hammer Operation เพื่อช่วยผลักดันลิ่มความเค็มด้วย
นอกจากนี้ ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงฤดูแล้ง ยังส่งผลให้บางพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจืด เช่น เกษตรกรในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีนที่ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ได้มีการเร่งช่วยเหลือโดยลำเลียงน้ำจากแม่น้ำท่าจีนตอนบน และแม่น้ำแม่กลอง ผ่านคลองท่าสาร-บางปลาและคลองจรเข้สามพัน รวมถึงจัดรถบรรทุกน้ำเข้าช่วยเหลือ โดยปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเค็มเพื่อติดตามควบคุมคุณภาพน้ำและเร่งป้องกันและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
“ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้มีสภาพอากาศร้อนและมีปริมาณฝนไม่มากนัก จึงต้องมีการควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ที่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินกว่าแผน ซึ่งหากเกษตรกรเก็บเกี่ยวนาปรังแล้วเสร็จในช่วงประมาณกลางเดือน มี.ค. นี้ จำเป็นจะต้องมีการปรับลดและงดใช้น้ำ เพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้สำหรับการอุปโภค บริโภค รวมถึงเพื่อเป็นการบำรุงรักษาและซ่อมแซม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานอาคารชลประทานด้วย โดย สทนช. ได้ขอความร่วมมือกับจังหวัดและกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรแล้ว”
สำหรับการคาดการณ์สภาพอากาศของประเทศไทยที่กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ได้ประเมินว่ามีโอกาสที่สภาวะลานีญาจะพัฒนาตัวขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. นี้ จึงคาดว่าในปีนี้ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า อาทิ การทยอยระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะเป็นการระบายน้ำผ่านลำน้ำชีที่ยังมีความสามารถในการรองรับน้ำ ลงสู่แม่น้ำโขง จ.อุบลราชธานี ในอัตราที่เหมาะสมโดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ และสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในช่วงเวลานี้
โดย สทนช. จะหารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโอกาสการเกิดฝนของประเทศไทยขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ทั้งสภาพภูมิประเทศ ร่องความกดอากาศ พายุฯลฯ และเนื่องด้วยมีความผันผวนแปรปรวนของสภาพอากาศสูง จึงยังคงต้องควบคุมการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อสำรองปริมาณน้ำไว้สำหรับฤดูแล้งปี 2567/2568