ธรรมนัส สั่งป้องน้ำเค็มรุก กระทบทุเรียน กล้วยไม้เสียหาย
“ธรรมนัส” เร่งมาตรการรับมือภัยแล้ง หวั่นผลกระทบน้ำเค็มรุก เสี่ยงเสียหายพืชเศรษฐกิจ”ทุเรียน-กล้วยไม้ ด้านกรมชลขอความร่วมมืองดทำนาปรังรอบสอง เกินแผนไปแล้วกว่า 145%
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมชลประทาน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่กระทบเกษตรกรในการทำการเกษตร เพราะขณะนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญ กรมชลประทานจึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง ที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/2567 จำนวน 9 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 กรมชลประทานต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งคัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการทำการเกษตร
ล่าสุด ได้รับรายงานว่า ในช่วง ระหว่างวันที่ 9-13 ก.พ.นี้ จะเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะไม้ผลและพืชเศรษฐกิจ เช่น มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน ส้มโอ และกล้วยไม้ เป็นต้น กรมชลประทานต้องเตรียมป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง กระทบต่อพื้นที่ของเกษตรกร
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 54,017 ล้าน ลบ.ม. หรือ 71% ของความจุอ่างฯ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ที่ประกอบด้วยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,263 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 61% ของความจุอ่างฯ
สำหรับการทำนาปรัง พบว่าทั่วประเทศมีการทำนาปรังไปแล้ว 8.38 ล้านไร่ คิดเป็น 145% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.63 ล้านไร่ คิดเป็น 186% ของแผนฯ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ต้องปรับแผนจัดสรรน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำไปแล้วทั่วประเทศประมาณ 12,196 ล้าน ลบ.ม. สัดส่วน 49% เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 4,311 ล้าน ลบ.ม. สัดส่วน 50%
จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เก็บเกี่ยวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ ขอให้งดทำนาปรังรอบสอง เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประเทศทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำรายพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม สำหรับ 9 มาตรการ รับมือภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง)มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้งมาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)มาตรการที่ 9 ติดตามและประสิทธิผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)