เฝ้าระวัง 33 จังหวัดเสี่ยงแล้ง นาปรังเกินแผน น้ำเค็มรุก จี้เข้มแผนน้ำ
กอนช. เตรียมปรับแผนจัดสรรน้ำหลังมีการเพาะปลูกเกินแผน เร่งแก้ปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำสายหลัก วางแผนถอดบทเรียนแก้ท่วมใต้เพื่อรับมือฤดูฝนหน้า
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า
สทนช. ได้ประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค นอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค ช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 พบว่า มีพื้นที่เสี่ยง 33 จังหวัด 167 อำเภอ 415 ตำบล ซึ่ง สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และแก้ไขปัญหาในเชิงป้องกัน โดยที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัดและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง อาทิ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในปัญหาขาดแคลนน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำอยู่ในระหว่างเร่งดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำในพื้นที่
ทั้งนี้สทนช.ได้มีการติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทานอย่างใกล้ชิดและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะปลูกเกินกว่าแผนที่กำหนดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งกระทบต่อการจัดสรรน้ำ จึงจะมีการหารือร่วมกันระหว่าง สทนช. กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อปรับแผนการจัดสรรน้ำ โดยคำนึงถึงการรักษาปริมาณน้ำให้ถึงเดือน พ.ย. 67 หรือต้นฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ด้วย
ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำเค็มในแม่น้ำหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันประสบปัญหาลิ่มความเค็มรุกล้ำเข้ามาในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับความเค็มในหลายจุดเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานีสูบน้ำสำแล ระดับความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการผลิตน้ำประปา แต่จะมีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด และหากมีระดับความเค็มสูงขึ้น สทนช. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเร็ว
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงซึ่งที่ผ่านมามีระดับน้ำลดลง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อประสานความร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อร่วมกันรักษาปริมาณน้ำไม่ให้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่ปัจจุบันระดับน้ำยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แม้คาดว่าจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบเนื่องจากมีปริมาณไม่มาก ซึ่งในช่วงสัปดาห์หน้า สทนช. จะลงพื้นที่ภาคใต้ ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ จ.ยะลา เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้การเตรียมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนถัดไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”