สมศักดิ์ วางแผนน้ำEECล่วงหน้า2ปี สร้างความมั่นคงโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก
สทนช. ชี้การผันน้ำโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก สู้วิกฤตเอลนีโญ ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปีกว่า 64 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่กระทบพื้นที่ต้นน้ำ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EECมั่นใจเพียงพอกับความต้องการใช้ในทุกภาคส่วน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลประสบผลสำเร็จในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ให้กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)จากการติดตามสถานการณ์ล่าสุดปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม แม้ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี อันเนื่องมาจากสภาวะเอลนีโญ
แต่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในการสูบผันน้ำ โดยเฉพาะการสูบผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก ผ่านทางคลองพระองค์ไชยานุชิตไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่EECได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังได้วางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าถึง2ปีอีกด้วย
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การสูบผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสักผ่านทางคลองพระองค์ไชยานุชิตไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โดยใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในปีนี้นั้น สามารถสูบผันน้ำเต็มศักยภาพได้ปริมาณมากกว่าทุกปีที่่ผ่านมา เนื่องจากมีการบูรณาการร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้ง สทนช. กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (อีสท์ วอเตอร์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ให้ดำเนินการตามแผน ซึ่งตามแผนนั้นเริ่มผันน้ำตั้งแต่วันที่8ก.ค.– 30พ.ย.66แต่ได้มีการลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถขยายระยะเวลาการสูบผันน้ำมาสิ้นสุดในวันที่15ธ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับปริมาณน้ำที่สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตมากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระในปี2566มีปริมาณทั้งหมด64.69ล้านลูกบากศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็นช่วงแรกตั้งแต่ที่8ก.ค.– 30พ.ย. ที่ผ่านมา จำนวน58.25ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำที่สูบผันน้ำในช่วงที่ขยายระยะเวลา ตั้งแต่วันที่1-15ธ.ค.66ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการCSRและประชาชนในพื้นที่คลองพระองค์ไชยานุชิต ได้กำหนดสูบผันน้ำในอัตราประมาณ500,000ลบ.ม. ต่อวัน และจะหยุดสูบเมื่อระดับน้ำหน้าสถานีสูบพระองค์ฯ อยู่ที่ +0.20ม.รทก. ค่าความเค็ม ไม่เกิน0.5กรัมต่อลิตร และการบริหารจัดการน้ำผ่าน ปตร.บึงฝรั่ง ไม่น้อยกว่า10ลบ.ม. ต่อวินาที ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวขัองยังได้หารือร่วมกันเพื่อขยายกรอบเวลาการสูบผันน้ำเพิ่มเติมหากมีปริมาณน้ำเพียงพอ และอยู่ในเงื่อนไขไม่กระทบต่อการใช้น้ำของเกษตรกรต้นทาง
“สถิติการสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ ที่ผ่านมา ในปี2558สูบผันน้ำได้26.68ล้าน ลบ.ม. ปี2559สูบผันน้ำได้62.12ล้าน ลบ.ม ปี2560สูบผันน้ำได้16.55ล้าน ลบ.ม ปี2561สูบผันน้ำได้38.19 ล้าน ลบ.ม ปี2562สูบผันน้ำได้46.66ล้าน ลบ.ม ปี2563สูบผันน้ำได้42.17ล้าน ลบ.ม ปี2564สูบผันน้ำได้15.13 ล้าน ลบ.ม ปี2565สูบผันน้ำได้15.84ล้าน ลบ.ม และล่าสุด ปี2566สามารถสูบผันน้ำได้ถึง64.69ล้าน ลบ.ม. มากที่สุด โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อพื้นที่ต้นน้ำ”ดร.สุรสีห์ กล่าว
นอกจากการสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต ยังได้มีการสูบผันน้ำแม่่น้ำบางปะกงมายังอ่างเก็บน้ำบางพระอีกด้วย ซึ่งในปี2566สามารถสูบน้ำได้รวม24.85ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม เมื่อสูบผันน้ำมาเก็บไว้แล้วจะมีการจัดสรรน้ำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ทำให้อ่างเก็บน้ำบางพระล่าสุด มีปริมาณน้ำ88ล้านลบ.ม. คิดเป็น75%เมื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่EECเขตจังหวัดชลบุรีและระยอง ทั้งหมด11แห่ง มีปริมาณน้ำรวม632.54ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น84.50%ของความจุเพียงพอกับความต้องการใ่ช้น้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในช่วงฤดูแล้งปี2566/67และช่วงต้นฤดูฝนปี2567อย่างแน่นอน
“ที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่EECสทนช. ได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนรองรับสถานการณ์เอลนีโญ เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับพื้นที่EECนอกจากจะมีการสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ และการสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ ดังกล่าวแล้ว ยังได้มีการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล การสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ การสูบผันน้ำจากคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ และการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ผ่านโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกเพื่อเติมน้ำต้นทุนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการดำเนินงานตาม9มาตรการรับมือฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด”