สทนช. เสนอแผนงานตามกรอบกฎหมาย แจง Thai Water Plan ขับเคลื่อนทรัพยากรน้ำ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. เสนอแผนงานตามกรอบกฎหมาย ชี้แจง Thai Water Plan ขับเคลื่อนทรัพยากรน้ำ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานนโยบายด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ จัดตั้งขึ้นเพื่อต้องการให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน โดยจะทำหน้าที่ในการบูรณาการงาน ข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามแม้สทนช. จะมีอายุ 6ปีและกำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 7 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคำถามที่ยังไม่เข้าใจ บทบาท ภาระ หน้าที่ของ สทนช. โดยเฉพาะในเรื่องแผนงาน โครงการ และงบประมาณ อาทิ
กรณี สทนช.ได้ลงประกาศ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่ให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั่วประเทศจัดทำคำขอเพื่อก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ผ่านระบบ Thai Water Plan ภายในวันที่ 2 มกราคม 2567 ทำให้ อปท.ไม่สามารถทำโครงการได้ทันเวลา สทนช. มีเจตนาให้ อปท. ไม่สามารถดำเนินการหรือไม่ และกรอบวงเงินประมาณด้านน้ำของ อปท.ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35%ของงบประมาณ แต่ปัจจุบันได้แค่ 29.5% เท่านั้น
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำเพิ่มเติม จากแผนปกติเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่มีภารกิจด้านทรัพยากรน้ำ ทั้งในส่วนของหน่วยงานของรัฐและอปท. เสนอแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำที่ตกหล่น หรือต้องการปรับปรุงแผนปฏิบัติการที่ได้เคยเสนอไว้แล้วตามขั้นตอนปกติให้ทันต่อกรอบปฏิทินงบประมาณ เพื่อที่จะสามารถช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ได้ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น สทนช. จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดการดำเนินงาน มิได้มีเจตนาให้ อปท. ไม่สามารถดำเนินการได้ทันแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สทนช. ได้มีการประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
โดยให้ทุกหน่วยงานสามารถเสนอแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำเพิ่มเติมได้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนก่อนนำเสนอ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ให้ความเห็นชอบและจัด ทำรายละเอียดคำของบประมาณส่งให้สำนักงบประมาณ ผ่านระบบ e-Budgeting ได้ทันภายในวันที่ 26 มกราคม 2567 ตามกรอบระยะเวลาในปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อไป
ส่วนประเด็นของกรอบวงเงินงบประมาณ อปท. ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุน 29.5% นั้น สทนช. เห็นด้วยที่จะต้องเพิ่มเติมงบประมาณให้ อปท. ตามที่กำหนดไว้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีแผนปฏิบัติการของ อปท. ที่ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนและ กนช. ให้ความเห็นชอบแล้ว จำนวน 13,457 รายการ งบประมาณ 31,424.17 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในขั้นการพิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาตามกรอบที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้กำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ สทนช.
นอกจากนี้ สทนช. มีความเห็นว่า รายละเอียดงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำมีเพียงเล็กน้อย และ เมื่อเทียบกับสัดส่วนงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ มีเพียง 8% เท่านั้น ดังนั้น อปท. ควรได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำเพิ่มเติมมากขึ้น หรือปรับลดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ มาดำเนินการด้านทรัพยากรน้ำแทน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที โดย อปท. มีภารกิจที่หลากหลาย และเป็นภารกิจรับโอนค่อนข้างมาก มีระเบียบ ขั้นตอน กฎหมาย ที่ทำให้ อปท. บางแห่งที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถจัดทำภารกิจที่เป็นภารกิจถ่ายโอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำของ อปท. สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้ เห็นควรให้มีการทบทวน แก้ไข และปรับปรุงวิธีการในการจัดทำงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ อปท. ให้เหมาะสมในอนาคต
อีกเรื่องที่ไม่เข้าใจกันก็คือ กรณีที่สทนช.นำระบบ Thai Water Plan ซึ่งเป็นระบบ AI มาใช้ในการขอรับการสรรงบประมาณ ดังนั้นหากมีข้อมูล ที่ส่งเข้าไปคลาดเคลื่อน ไม่สมบูรณ์ หรือเพราะความเข้าใจผิด ระบบ AI ก็จะเขี่ยโครงการเหล่านั้นให้ตกไปทันที ทำให้ลดโอกาสของ อปท. ที่จะได้รับการอนุมัติโครงการ
เลขาธิการ สทนช. ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า การจัดทำระบบ Thai Water Plan มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบฐานข้อมูล data platform มาใช้ในการรวบรวม ช่วยวิเคราะห์ และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำของประเทศ โดยระบบ Thai Water Plan เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง แต่การวิเคราะห์และกลั่นกรองแผนงาน/โครงการยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการในพื้นที่ คือ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ ก่อนจะส่งต่อให้ สทนช. ในฐานะผู้พิจารณาในภาพรวมทั้งประเทศ เพื่อเสนอต่อ กนช.พิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สทนช. ได้มีการลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ รวมถึงมีการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติการการใช้งานระบบ Thai Water Plan ให้กับ อปท. ซึ่ง สทนช.ได้มีการประเมินจากข้อมูลการเสนอแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำประจำปีว่ามีโอกาสที่จะเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือยังไม่มีความชำนาญ รวมถึงจากการที่มีการร้องขอจากทั้งในส่วนของ อปท. และจังหวัดให้ได้รับความรู้และมีการฝึกฝนการใช้ระบบ Thai Water Plan มาตั้งแต่เริ่มการใช้ระบบ Thai Water Plan ในปี พ.ศ. 2564 และปัจจุบันยังคงมีการฝึกอบรมมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงไม่เป็นความจริงที่ระบบ Thai Water Plan ใช้ระบบ AI ในการตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสาร ทำให้ลดโอกาสของ อปท. ที่จะได้รับการอนุมัติโครงการ
ในทางตรงข้ามระบบ Thai Water Plan จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ อปท. เสนอแผนงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์เป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ลดความซ้ำซ้อน มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาด้านน้ำที่ตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างแท้จริง และที่สำคัญประชาชนทั่วไปสามารถติดตามตรวจสอบหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และความคืบหน้าของโครงการด้านทรัพยากรน้ำในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ อปท. โดยได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนโครงการด้านทรัพยากรน้ำตั้งแต่ปี 2561-2567 มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีจำนวน 2,647 โครงการ จำนวนเงิน 6,072.72 ล้านบาท ปี 2562 มีจำนวน 1,721 โครงการ จำนวนเงิน 3,793.21 ล้านบาท ปี 2563 มีจำนวน 1,610 โครงการ จำนวนเงิน 3,553.96 ล้านบาท ปี 2564 มีจำนวน 2,054 โครงการ จำนวนเงิน 4,664.14 ล้านบาท ปี 2565 มีจำนวน 2,092 โครงการ จำนวนเงิน 4,275.37 ล้านบาท ปี 2566 มีจำนวน 1,230 โครงการ จำนวนเงิน 3,141.54 ล้านบาท และปี 2567 (เสนอขอ) มีจำนวน 1,035 โครงการ จำนวนเงิน 2,723.87 ล้านบาท” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
คงเข้าใจการดำเนินงานของ สทนช. ที่จะต้องขับเคลื่อนแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เมื่อสิ้นสุดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในปี 2580