สรรพากร จับมือ บก.ปอศ. ทลายบริษัทขายใบกำกับภาษีปลอมมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท
สรรพากร จับมือ บก. ปอศ. บุกทลายบริษัทขายใบกำกับภาษีปลอมมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท พบผู้กระทำผิดหลายคน แต่ยังไม่พบเจ้าหน้ารัฐร่วมขบวนการ เตรียมขยายผลทุกความผิดของฐานกฎหมาย รวมถึง การฟอกเงิน
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 14 ก.พ.2567 กรมสรรพากร ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้เข้าตรวจค้นสถานที่ออกใบกำกับภาษีปลอม จำนวน 5 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น ได้ยึดเอกสารใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย และได้จับกุมผู้กระทำความผิดได้ ณ สถานที่ตรวจค้นในความผิดฐาน “ร่วมกันมีเจตนาออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออก” อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับพฤติการณ์สืบเนื่องมาจากการสืบสวนสอบสวนของกรมสรรพากรพบว่า มีการนำใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นมาทำการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ใช่ผู้ขายสินค้าตัวจริง กรมสรรพากรจึงได้ดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริง กระทั่งพบสถานที่ที่ใช้ออกใบกำกับภาษีดังกล่าว และในส่วนของ บก. ปอศ. ได้ดำเนินการล่อซื้อใบกำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริง ซึ่งจากการตรวจค้นทั้ง 5 แห่ง พบใบกำกับภาษีจำนวนมากมีมูลค่าความเสียหายกว่าร้อยล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีและผู้ใช้ใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้มีการประกอบกิจการจริง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 86/13 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร มีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยโทษทางแพ่ง ต้องรับผิดเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมายอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี และโทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท”
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ที่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายกันจริง ในส่วนของผู้ออกต้องรับผิดทางแพ่งแล้ว ยังมีโทษทางอาญาด้วยในฐานความผิด โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษี ไม่มีสิทธิที่จะออก ส่วนผู้ที่นำใบกำกับภาษีไปใช้ ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่มีสิทธินำมาใช้เป็นเครดิตต้องรับผิดทางแพ่ง และมีโทษทางอาญาในฐานความผิดใช้ใบกำกับภาษีปลอมโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี มีโทษต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท
“เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ใช้ใบกำกับภาษีต้องซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบกิจการซึ่งมีตัวตนจริง และเป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีเท่านั้น กรมสรรพากรขอแนะนำให้ผู้ประกอบกิจการเข้าสู่ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกปลอมแปลงใบกำกับภาษี ลดความซ้ำซ้อนและลดปัญหาการจัดการเอกสารที่อยู่ในรูปของกระดาษ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ตามมาตรฐานสากลต่อไป”อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวและว่า เบื้องต้น ยังไม่พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนร่วมกับการกระทำดังกล่าว
น.ส.กุลยากล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นแบบภาษีนิติบุคคล 7-8 แสนราย และยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 8 แสนราย ส่วนผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11.40 ล้านราย ซึ่งกรมสรรพากร จะพยายามให้ใช้ระบบE-Tax มากยิ่งขั้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องยื่นภาษีนิติบุคคล และภาษี VAT ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบ E-Tax เพียง 30% ของจำนวนทั้งหมด ขณะที่ ผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยื่นเสียภาษีรายปีผ่านE-Tax แล้ว 95% เพื่อป้องกันการโกงและคืนภาษีปลอม ซึ่งกรมฯเองก็จะเร่งพัฒนาระบบที่จะทำให้ผู้เสียภาษีมีต้นทุนในการเข้าสู่ระบบ E-Taxต่ำที่สุด เพื่อดึงให้ผู้เสียภาษีเข้าระบบ E-Tax มากขึ้น
สำหรับเรื่องการคืนภาษีให้กับผู้เสียภาษีนั้น ส่วนใหญ่จะคืนผ่านพร้อมเพย์แล้ว ส่วนกรณีเป็นชาวต่างชาติ ที่ทำงานในประเทศไทยกว่า 8 หมื่นรายนั้น กรมสรรพากร อยู่ระหว่างหารือกับสถานบันการเงิน เพื่อหาช่องทางคืนภาษีให้ในรูปแบบที่สะดวกทั้ง 2 ฝ่ายและลดการรั่วไหลได้ด้วย
พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า เนื่องจากว่า บก.ปอศ. ได้รับคำร้องเรียนจากพลเมืองดีว่า มีบุคคลหรือนิติบุคคลกระทำความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิออก โดยออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ความเสียหายกว่าร้อยล้านบาท โดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการเกิดขึ้นจริง เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.2 บก.ปอศ. จึงได้ทำการสืบสวน โดยให้สายลับเจรจาล่อซื้อใบกำกับภาษี จากกลุ่มบุคคลดังกล่าว จำนวน 5 ครั้ง โดยมีการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิที่จะออกจำนวน 30 ใบ ต่อมาได้ไปตรวจสอบสถานประกอบการ ซึ่งจดทะเบียนเป็นสำนักงานนิติบุคคล พบว่า ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว ได้เปิดกิจการเพื่อขายใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน จึงได้รีบดำเนินการโดยเร่งรัด
“ผู้กระทำผิดมีหลายคน แต่เราต้องดำเนินตรวจสอบให้รอบคอบ เบื้องต้น เรามีเอกสารที่ตรวจพบหลายลัง จะดำเนินการขยายผลในทุกฐานความผิด ซึ่งรวมถึง การฟอกเงิน โดยทรัพย์สินที่ได้มาจากการดำเนินการดังกล่าวถือว่า ผิดกฎหมาย”