เปิดมาตรการ ‘คมนาคม’ เร่งลดฝุ่นละออง PM2.5
“คมนาคม” เปิดมาตรการลดมลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 รับต้นตอมาจากภาคการขนส่งถึง 61% พร้อมจี้ รฟม.คุมเข้มงานก่อสร้างทำความสะอาด - ฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง โดยร่วมกับกรุงเทพมหานครบูรณาการแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
โดยกระทรวงฯ สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะปีนี้มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 มากเนื่องจากจะมีภาวะแล้งมากกว่าปกติ ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจากภาคการขนส่งถึง 61% และจากภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างอีก 39% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การกำกับกระทรวงคมนาคม
นโยบายและมาตรการที่กำหนดใช้ในขณะนี้ ประกอบด้วย
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
ดำเนินการตรวจควันดำและฝุ่น PM 2.5 เชิงรุก โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดตรวจการขนส่งทางบกเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ตรวจสอบค่า PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน และชุดเฉพาะกิจเข้าให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการปล่อยควันดำของรถโดยสารไม่ประจำทาง ณ สถานประกอบการ โดย ขบ.จะบูรณาการร่วมกับ กทม.จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ออกตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ณ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 233 แห่ง และสถานประกอบการ ได้แก่ แพลนต์ปูน บริเวณไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ขบ.ได้จัดเจ้าหน้าที่กองตรวจการลงพื้นที่ตรวจสอบรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ณ อู่รถเมล์ ขสมก.ทั้ง 8 เขตการเดินรถ 21 แห่ง รวมถึงรถโดยสารประจำทาง ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร เอกมัย สายใต้) อีกทั้งขบ.ได้สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรการทางภาษีประจำปี รวมทั้งดำเนินแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมการเดินทางของประชาชนเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลต่อไป
กรมการขนส่งทางราง (ขร.)
สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ผ่านนโยบายอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง พร้อมผลักดันระบบขนส่งทางรางเปลี่ยนมาใช้รถไฟ EV on Train มาให้บริการประชาชนเพื่อลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แทนที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงคมนาคม
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
ในบริเวณโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 1. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 2. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3. ช่วงนครปฐม-ชุมพร 4. ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 5. ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด ให้ดำเนินมาตรการจำกัดพื้นที่การทิ้งและห้ามเผาขยะซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM 2.5 และติดรั้วป้องกันฝุ่นละอองโดยได้เพิ่มปริมาณการฉีดน้ำทำความสะอาดในพื้นที่ก่อสร้าง กำชับให้มีการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรให้พร้อมใช้งาน จัดชุดทำความสะอาดล้อรถก่อนขึ้นถนนสาธารณะ
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินแผนการใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซลซึ่งถือเป็นพลังงานทางเลือก ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และดำเนินโครงการจัดหารถจักรรุ่นใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปรับปรุงพื้นที่โรงซ่อมบำรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ดำเนินมาตรการลดฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า โดยได้กำชับและสั่งการให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทุกโครงการ ต้องติดตั้งรั้วสูง 2 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้างและปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้าง/กระบะรถบรรทุกเพื่อป้องกันฝุ่นละออง พร้อมทั้งทำความสะอาดถนนสาธารณะโดยใช้รถกวาดดูดฝุ่นและการฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในช่วงที่มีค่า PM 2.5 สูง และตรวจสอบสภาพเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดีไม่ให้มีควันดำหรือควันขาว
บริษัท ขนส่ง จํากัด (บขส.)
ดำเนินมาตรการด้านรถโดยสาร 3 ด้าน ดังนี้ 1. การบริหารจัดการเกี่ยวกับรถโดยสาร โดยจัดให้มีการตรวจวัดควันดำรถโดยสารก่อนนำรถออกให้บริการประชาชน 2. การปรับลดเส้นทางเดินรถ และควบรวมเที่ยววิ่งรถโดยสาร เพื่อปรับลดจำนวนเส้นทางเดินรถโดยสารและเที่ยววิ่งรถ และ 3. จัดหารถโดยสาร EV ทดแทนรถโดยสารที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำรถ EV BUS เข้าวิ่งในระบบมากขึ้น ในส่วนการบริหารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร เอกมัย สายใต้) ดำเนินการทำความสะอาดโดยรอบอาคารผู้โดยสารเพื่อลดฝุ่นละอองและประชาสัมพันธ์เมื่อรถเข้าใช้ชานชาลาให้ดับเครื่องยนต์และสตาร์ทเครื่องยนต์ก่อนออกเดินรถ อีกทั้ง การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมมือกันป้องกันและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เช่น
กรมทางหลวง (ทล.)
ดำเนินการจำกัดพื้นที่หน้างานก่อสร้างและบำรุงทางที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อยที่สุด กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดี รวมทั้งงดใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วกับเครื่องจักรจัดการขยะอย่างเหมาะสมและห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด โดย ทล.จะร่วมสร้างเครือข่ายผู้ประสานงาน PM 2.5 ภายใต้ชื่อกลุ่ม “PM 2.5 DOH” เพื่อรายงานผลการดำเนินงานแบบรายวันในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของหน่วยงาน ทล.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือในการป้องกันและควบคุมไฟป่า โดยใช้รถบรรทุกฉีดน้ำเพื่อเข้าระงับเหตุกรณีเกิดไฟป่าหรือไฟไหม้สองข้างทางหลวง
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
ดำเนินมาตรการลดปัญหาสภาพการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงที่ควบคุมการทำงานโดยการวัดคุณภาพอากาศ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) โดยเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงจะทำงานอัตโนมัติ เมื่อตรวจพบค่า PM 2.5 เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ทั้งนี้ อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงแบบควบคุม ณ ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ 28 แห่ง
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
เข้มงวดในการตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารทุกคันทุกวัน หากมีค่าควันดำเกินมาตรฐานจะนำรถส่งเข้าซ่อมบำรุงโดยทันที และดำเนินการตรวจเช็กรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หัวฉีด ไส้กรองไอเสีย ไส้กรองอากาศ ท่อพักไอเสีย ล้างทำความสะอาดท่อไอเสียของรถโดยสาร รวมทั้งทำความสะอาดอู่จอดรถและรถโดยสารเพื่อชะล้างฝุ่นละออง