เปิดไทม์ไลน์ 6 เดือน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ‘เศรษฐา’ ยอมถอยแลกเดิมพัน ‘นายกฯ 4 ปี’
จับจังหวะการเมือง "เศรษฐา" ถอย "ดิจิทัลวอลเล็ต" แลกเดิมพันนายกฯครบเทอม 4 ปี ตั้งทีมกรองข้อกฎหมายทั้งจากคำตอบคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ป.ป.ช. ย้อนไทม์ไลน์ 6 เดือน แถลงนโยบาย-ประชุมบอร์ด การเดินหน้าโครงการยังไม่คืบได้ตามแผน
Key points
- โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
- การประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ล่าสุดให้ตั้งกรรมการ 2 ชุดดูข้อกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็น
- จังหวะการถอยของนายกฯในโครงการนี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และนายกฯลั่นจะอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี
นโยบายแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นนโยบาย “เรือธง” ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน และได้มีการประกาศนโยบายมาตั้งแต่มีการหาเสียงเลือกตั้ง และตลอดระยะเวลาที่มีการบริหารประเทศมาประมาณ 6 เดือนนโยบายนี้รัฐบาลพยายามผลักดันนโยบายนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีข้อกฎหมาย และข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ หน่วยงานทางด้านกฎหมาย รวมถึงองค์กรอิสระ
ทำให้ในการประชุมคณะกรรมการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลครั้งล่าสุดในวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปในการเดินหน้าโครงการนี้ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังบอกว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง และศึกษาข้อกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยให้กรอบระยะเวลาในการทำงาน 30 วัน
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมฯว่า “รัฐบาลจะดำเนินการโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะเปิดเผยทุกกระบวนการ และมีความรอบคอบระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ที่สำคัญเราไม่ลืมรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด”
ส่วนเมื่อถามว่าสำหรับปี 2567 จะเกิดโครงการนี้ขึ้นได้หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าขึ้นกับข้อสรุปจะเป็นอย่างไร จะต้องรับฟังความคิดเห็นคณะกรรมการก่อน ว่าจะมีวิธีไหนอย่างไร ส่วนแผนการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ หรือไม่ก็ต้องรอฟัง
“ที่ใช้คำว่าช้าแต่ชัวร์ คือได้ชัวร์ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีตอบว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ ไม่แน่ใจว่าจะช้าหรือเปล่า เพราะตอนนี้ยังไม่ทราบว่าข้อเสนอแนะคืออะไร ถ้าทุกคนออกมาว่าเป็นเรื่องจำเป็น เร่งด่วน เป็นเรื่องที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ Critical แล้ว และมีคณะกรรมการที่ตั้งมาแล้วทุกภาคส่วนสบายใจว่าสามารถกำกับดูแลเรื่องนี้ให้มีความโปร่งใสได้ คณะกรรมการที่ต้องรับผิดชอบในหน่วยงานนั้น ต้องตอบคำถามพี่น้องประชาชนให้ได้ ต้องดูข้อมูลใหม่ทั้งหมด หากสามารถอธิบายได้ เชื่อว่าก็น่าจะเดินต่อได้เร็ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการปรับเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลในการผลักดันโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตโดยหันมาให้ความสำคัญกับข้อกฎหมายเกิดขึ้นภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังจากที่ผู้สื่อข่าวถามว่า บรรยากาศของพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมานายกฯ มั่นใจหรือไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม โดยนายเศรษฐาตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า
“ผมมีความตั้งใจจะเป็นนายกรัฐมนตรีให้ครบ 4 ปี และมั่นใจว่าภายใน 4 ปีนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะดีขึ้น”
ย้อนดูไทม์ไลน์ดิจิทัลวอลเล็ต
ทั้งนี้ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลหากย้อนดูไทม์ไลน์ในการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา
- 5 ก.ย.2566 นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลหลังนำคณะรัฐมนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเรื่องของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเราทำเต็มที่ ซึ่งตอนนี้เราได้ประสานกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้ดิจิตอลวอลเล็ต ออกได้โดยเร็ว ยืนยันเป็นการแจกเงินหนเดียว และคิดว่าจะทำได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ต้องพยายามทำให้ได้
แถลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อรัฐสภาฯ
- 11 ก.ย.2566 ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลปัจจุบันเน้นเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาปากท้อง โดยมีนโยบายสำคัญที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และอยู่ในนโยบายของรัฐบาลคือ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ต้องใช้งบประมาณราว 5.6 แสนล้านบาท ทำให้มีคำถามถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมของนโยบายนี้อยู่หลายประการ
โดยในการแถลงข่าวนายกรัฐมนตรีมีสาระสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจและปากท้อง คือ นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ซึ่งเงินจำนวนนี้จะทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กระจายในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก โดยรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนผ่านรูปแบบของภาษี
- ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตนัดแรก 10 พ.ย.
ภายหลังจากที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 10 พ.ย.ได้มีการแถลงรายละเอียดโครงการว่ารัฐบาลจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท และการใช้เงินงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาท
โดยการใช้เงินกำหนดว่าจำนวน 5 แสนล้านบาทจะใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขณะที่อีก 1 แสนล้านบาทจะใช้ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New – S Curve)
ในการแจกเงินดิจิทัลนายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะมีการให้กลุ่มเป้าหมายประชากร 50 ล้านคน ที่มีรายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินในบัญชีทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท
อย่างไรก็ตามประเด็นซึ่งที่ประชุมมีมติประเด็นหนึ่งคือให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการฯส่งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลว่ามีข้อกฎหมายใดบ้างที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์หานายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าขอให้ใช้เวลาในการพิจารณาข้อกฎหมายอย่างเต็มที่ และบอกว่า “ขอให้ช่วยดูข้อกฎหมายให้รอบคอบ ผมไม่อยากทำผิดกฎหมาย”
- ประชุมดิจิทัลวอลเล็ต 15 ก.พ.67 ไร้ข้อสรุป
ล่าสุดในการประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ครั้งที่ 1/2567 นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการฯมีมติรับทราบมติข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการในฐานะคณะทำงานไปรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการนี้ตามข้อสังเกตต่างๆ โดยมอบหมายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่วยขยายขอบเขตในการรับฟังความคิดเห็นด้วย ที่ประชุมมีมติตั้งอนุกรรมการ 2 คณะได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการเพื่อป้องกันการผิดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการชัดเจนและมอบหมายให้นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีหน้าที่ไปดูข้อกฎหมายทั้งในส่วนที่ ป.ป.ช.และคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอมา
2.คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและความคิดเห็นด้านต่างๆ โดยจะเริ่มทำงานทันทีและมีกรอบทำงานภายใน 30 วัน เมื่อเสร็จสิ้นจะนัดประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่อีกครั้ง เมื่อมีการประชุมครั้งต่อไปจะมีการนำเอาความเห็นของ ป.ป.ช.เข้ามาสู่การพิจารณาและนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป
ทั้งนี้การเสนอแนะในโครงการนี้ที่ประชุมฯมีการเสนอว่าขอให้มีการรับฟังข้อคิดเห็นในวงกว้างไม่ใช่แค่กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งวันนี้มีความชัดเจนทุกๆคนที่อยากเสนอแนะก็ได้มีการพูดคุยกันให้ครบถ้วน และบางเรื่องนั้นเป็นข้อมูลลับก็มีการบอกว่าขอนำไปศึกษาก่อน พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาลจะ
แหล่งข่าวจากที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตเปิดเผยว่าการประชุมได้มีการพิจารณาข้อกฎหมายทั้งในส่วนที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และ ป.ป.ช.ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมา 2 ชุดเพื่อศึกษาความเห็นของ ป.ป.ช.หนึ่งชุด และกรรมการที่ศึกษาคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกหนึ่งชุด ซึ่งมีกรอบการทำงาน 30 วันเช่นกัน แล้วนำเอาข้อสรุปเสนอต่อบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่
จะเห็นได้ว่าจังหวะการถอยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของนายกรัฐมนตรี โดยกลับไปโฟกัสในข้อกฎหมายที่ตั้งข้อสังเกตมาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ป.ป.ช.รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การเมืองกำลังมี “คลื่นลม” ที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล ขณะที่นายกรัฐมนตรี เพิ่งจะย้ำต่อหน้าสื่อมวลชนอีกครั้งว่า
“ผมตั้งใจที่จะเป็นนายกฯให้ครบ 4 ปี”