‘อู่ตะเภา’ ลุยตอกเสาเข็มปีนี้ ไฮสปีดเทรนล่าช้ากระทบเชื่อม กทม.
“ยูทีเอ” พร้อมลงทุน “อู่ตะเภา” คาดออกหนังสือ NTP เพื่อเริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2567 "พุฒิพงศ์" ห่วงโครงการรถไฟความเร็วสูงล่าช้า กระทบการพัฒนาอู่ตะเภา ชี้จำเป็นต้องมีขนส่งระบบรางขนส่งผู้โดยสารเข้ากรุงเทพฯ
Key Points
- การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
- UTA ได้รับสิทธิการพัฒนาและบริหารโครงการ 50 ปี และมีแผนที่จะเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างได้ภายในปี 2567
- การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการปรับแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจาก 4 ระยะ เป็น 6 ระยะ
- ความล่าช้าของรถไฟความเร็วเชื่อม 3 สนามบิน มีผลกระทบต่อการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่ต้องขนส่งผู้โดยสารเข้ากรุงเทพฯ
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นอีกเมกะโปรเจกต์สำคัญของการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีการลงนามร่วมลงทุนไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563
สำหรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระบาดรุนแรงในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ผลกระทบดังกล่าวทำให้มีการปรับมาสเตอร์แพลนการพัฒนาสนามบิน รวมทั้งมีการปรับรายละเอียดการลงทุนเพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 เห็นชอบการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เช่น การปรับการจ่ายค่าเช่าที่ดินและรายได้ของรัฐรายปี แต่ยังคงผลตอบแทนรวมในปีที่ 50 ไว้ที่ 84,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกได้เพิ่มวงเงินการลงทุนจาก 4,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ยื่นข้อเสนอเพื่อแลกกับการยืดหยุ่นในการพัฒนาโครงการ เช่น การเริ่มนับอายุสัญญา
ในขณะที่บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้ยืนยันความพร้อมในการลงทุนด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากผู้ถือหุ้น 3 ราย จาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA , บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
สำหรับมาสเตอร์แพลนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจากเดิมที่กำหนดไว้ 4 เฟส ได้ปรับเป็น 6 เฟส เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างรุนแรง โดยเดิมแบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 ปี 2570 รองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน , ระยะที่ 2 ปี 2577 รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน , ระยะที่ 3 ปี 2590 รองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน และระยะที่ 4 ปี 2603 รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน
ขณะที่มาสเตอร์แพลนใหม่แบ่งเป็น 6 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคน , ระยะที่ 2 ปี 2570 รองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน , ระยะที่ 3 รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคน , ระยะที่ 4 ปี 2577 รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน , ระยะที่ 5 ปี 2590 รองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน และระยะที่ 6 ปี 2603 รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน
ห่วงไฮสปีดเทรนล่าช้ากระทบเชื่อม กทม.
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัดกล่าวว่า ปัจจุบัน UTA มีความพร้อมด้านเงินทุนในการก่อสร้างท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกตามแผนงานกำหนดแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับหนังสือ NTP เพื่อเริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2567
แต่อย่างไรก็ดี การส่งมอบ NTP และเริ่มก่อสร้างโครงการ มีเงื่อนไขที่จะต้องได้ข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการไฮสปีดเทรนดเชื่อมสามสนามบินด้วย เพราะทั้ง 2 โครงการมีโครงสร้างร่วมที่ต้องตกลงรูปแบบก่อสร้างกันให้ชัดเจน
อีกทั้งต้องยอมรับด้วยว่าโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จำเป็นต้องมีระบบขนส่งทางรางเพื่อส่งเสริมการเดินทางของผู้โดยสาร ถ้าไม่มีไฮสปีดเทรนมาเชื่อมสนามบินก็คงเป็นไปได้ยาก
เอกชนมีเงินทุนพร้อมเริ่มก่อสร้าง
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ตอนนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ทราบว่าเอกชนคู่สัญญาการลงทุนได้มีความพร้อมในด้านเงินลงทุนแล้ว
รวมทั้งงานลงทุนของภาครัฐส่วนของรันเวย์ที่ 2 กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนงานก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาในช่วงกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570-2571
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566 กองบัญชาการกองทัพเรือ (ทร.) ได้เผยแพร่ประกาศเชิญชวนการจ้างก่อสร้าง โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ สนามบินนานาชติอู่ตะเภา วงเงินโครงการ 15,200 ล้านบาท โดยเนื้องานจะไปประกอบด้วย การก่อสร้างรันเวย์เส้นทางที่ 2 ขนาดความยาว 3,505 เมตร กว้าง 60 เมตร โดยเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับเครื่องบินทุกรุ่น
สำหรับการจัดแนวรันเวย์จะสร้างเป็นทางคู่ขนานและอยู่ห่างจากรันเวย์เดิมประมาณ 1,140 เมตร นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้าง รวมถึงงานดินที่เกี่ยวข้องและการเตรียมพื้นที่ทางขับ ระบบและโครงสร้างระบายน้ำ ระบบช่วยเหลือการมองเห็น ไฟส่องสว่างพื้นสนามบิน ระบบและสถานีสูบน้ำ ระยะเวลาโครงการ 1,095 วัน
ขณะเดียวกัน ยังประมาณการต้นทุนการจัดซื้อก่อสร้างทางวิ่งและทางขับแห่งที่ 2 เป็นเงินบาท 15,200 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดเงินทุนจะได้รับจากเงินกู้ของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) สัดส่วน 85% ของต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้าง และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องจัดให้มีกองทุนคู่สัญญา 15% อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 0% เท่านั้น นำไปใช้กับการจัดหาเงินทุนของ AIIB และรูปแบบการประมูลจะดำเนินการผ่านการประกวดราคาแบบนานาชาติ (International bidding)