กรมประมง ติวเข้ม ห่วงโซ่ความเย็นหลังการจับสัตว์น้ำ หวังลดต้นทุนการขนส่ง
กรมประมง ดึง เจ้าหน้าที่ประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการประมง ในภูมิภาคอาเซียนและฮ่องกง จาก 11 ประเทศ อบรมให้ความรู้การจัดการห่วงโซ่ความเย็นภายหลังการจับสัตว์น้ำ หวังช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มมูลค่า บรรลุ เป้าหมายข้อตกลงการค้าอาเซียน - ฮ่องกง
กรมประมงจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการห่วงโซ่ความเย็นภายหลังการจับสัตว์น้ำ หลักสูตร “Post - harvest Practice Workshop for Fisheries Cold Chain Development” ระหว่างวันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล บางนา กรุงเทพ และฟาร์มในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มความรู้ และศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการประมง ในภูมิภาคอาเซียนและฮ่องกงจาก 11 ประเทศ ในเรื่องการจัดการห่วงโซ่ความเย็นภายหลังการจับสัตว์น้ำ การควบคุมคุณภาพปลาทั้งกายภาพและเคมี กลไกการเสื่อมสภาพของปลา และการประเมินอายุการเก็บรักษาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ประมง
ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญ และเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาซึ่งเป็นอาหารที่เน่าเสียง่าย จึงควรมีระบบห่วงโซ่ความเย็นหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค
ประกอบกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ได้พัฒนาแนวทางปฏิบัติระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดการห่วงโซ่ความเย็นของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่นำมาใช้ และปรับเปลี่ยนเพื่อการจัดการห่วงโซ่ความเย็นและโลจิสติกส์สินค้าประมงในปี พ.ศ. 2566 กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ
กรมประมง จึงได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการห่วงโซ่ความเย็นภายหลังการจับสัตว์น้ำ (Post-harvest Practice Workshop for Fisheries Cold Chain Development) โดยเน้นไปที่ปลากะพงขาว ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีการเพาะเลี้ยงมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการประมง ในภูมิภาคอาเซียนและฮ่องกง จาก 11 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ฃสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐสิงคโปร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทย เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นในสินค้าปลากะพงขาวในภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน
สำหรับการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว จะมีการเยี่ยมชมการปฏิบัติงานการจับสัตว์น้ำ ณ ฟาร์มเลี้ยงปลากะพงขาว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้เชิญวิทยากรผู้คร่ำหวอดด้านการจัดการและพัฒนา ห่วงโซ่ความเย็นที่จะมาให้ข้อมูลเชิงลึก จากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสิงคโปร์ พร้อมทั้งวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจต่าง ๆ มากมาย อาทิ การพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นในเอเชีย แนวทางการจัดการห่วงโซ่ความเย็นในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงในภูมิภาคอาเซียน แนวคิดพื้นฐานของการรักษาคุณภาพสัตว์น้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวประมงมีแนวทางการเก็บรักษาผลผลิตสัตว์น้ำให้มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์น้ำ
อีกทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายโดยรวมของข้อตกลงการค้าอาเซียน - ฮ่องกง (AHKFTA) แผนยุทธศาสตร์ขององค์กรสาขาต่าง ๆ ของอาเซียน และ AEC Blueprint ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนให้เติบโตมากยิ่งขึ้นต่อไป