จับ ไกลโฟเซต สารเคมีทางการเกษตรสำแดงเท็จที่แหลมฉบัง 12 ล้านบาท
กรมวิชาการเกษตร ผนึก ทีมเฉพาะกิจพญานาคราช อายัด ไกลโฟเซต สำแดงการนำเข้าเท็จ มูลค่ากว่า 12 ล้านบาทไว้ สั่งดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ และด่านตรวจพืชลาดกระบัง กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการ อายัด วัตถุอันตรายทางการเกษตร ที่สำแดงการนำเข้าเป็นสาร Glufosinate-Ammonium 15% W/V SL จำนวน 2 ชิปเม้นท์ ปริมาณการนำเข้ารวม 139,800 ลิตร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้สุ่มตัวอย่าง และตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการแล้ว พบว่า
เป็นสาร ไกลโฟเซต (Glyphosate) จำนวน 538 ถัง ปริมาณ 107,600 ลิตร คิดเป็นมูลค่า 12,105,000 บาท ซึ่งเป็นการกระทำความผิด ซุกซ่อน ลักลอบ ไม่เป็นไปตามข้อมูลสำแดงการนำเข้า และผิดเงื่อนไขการนำเข้า กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อดำเนินทางกฎหมาย
กรณีนี้พบว่ามูลค่าการกระทำความผิดมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท เข้าลักษณะคดีพิเศษ กรมวิชาการเกษตร และทีมเฉพาะกิจพญานาคราช จึงประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าร่วมการสืบสวน ดำเนินดดีกับผู้กระทำความผิด และขอให้ริบของไว้เพื่อดำเนินการทำลายต่อไป
ซึ่งการเข้มปราบสินค้าเกษตรผิดกฎหมายเป็นไปตามนโยบายร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับระบบการผลิตของเกษตรกรที่ต้องได้ใช้สารกำจัดแมลงศัตรูพืช และปัจจัยการผลิต ที่มีคุณภาพในแปลงเกษตรกร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สารไกลโฟเซต เป็นวัตถุอันตรายที่มีมาตรการจำกัดการใช้ และควบคุมให้มีการใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรปราบปราม และเฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้าอย่างเข้มงวด สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร จึงได้ยกระดับมาตรการในการควบคุม ตรวจสอบติดตามวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การควบคุมการนำเข้าหน้าด่านตรวจพืช ตรวจสอบการสำแดงข้อมูล การซุกซ่อน รวมถึงการติดตามไปจนถึงสถานที่เก็บ หรือโรงงานผลิต ซึ่งมาตรการปราบปรามที่ผ่านมาทีมเฉพาะกิจพญานาคราช กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ DSI ได้ร่วมกันจับกุมสารไกลโฟเซต จำนวน 144,200 ลิตร และอายัดไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรประเภทวัตถุอันตรายทางการเกษตร เช่น สารป้องกันกำจัดโรค แมลง และวัชพืช หากใช้ไม่ถูกต้องจะส่งผลเสียต่อผลผลิตและตัวเกษตรกร การเลือกซื้อจึงมีความสำคัญ เกษตรกรต้องซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรจากร้านที่ได้รับอนุญาตจำหน่าย หรือร้านที่ได้ใบรับรอง Q Shop ก่อนเลือกซื้อ ต้องอ่านฉลาก ชื่อสามัญ ประโยชน์ วิธีใช้ วันที่ผลิต ภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดี ไม่เก่า หรือ เสื่อมสภาพ ซื้อในปริมาณที่พอเหมาะกับการใช้ ไม่เป็นสารต้องห้ามนำเข้า ห้ามผลิต หรือ ห้ามจำหน่าย ฉลากวัตถุอันตรายต้องเห็นชัด มีข้อความภาษาไทยทั้งชื่อสามัญ ชื่อการค้า เลขทะเบียนวัตถุอันตราย ผู้ผลิต สถานที่ประกอบการ
สถานที่ตั้งโรงงาน เดือนปีที่ผลิต ขนาดบรรจุ คำเตือน ประโยชน์ วิธีการใช้ การเก็บรักษา การป้องกันอันตรายหรือความเสียหายมีเครื่องหมายและข้อความ อาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้น หากมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 02-579 -7986 หรือเป็นส่วนหนึ่งในการแจ้งเบาะแสการกระทำที่ผิดกฎหมายได้ที่สายด่วน 1174