เปิด 5 โจทย์ท้าทาย 'เทพรัตน์' ผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่เร่งสางปัญหา
เปิด 5 ภารกิจหลักงานหินท้าทายรอ "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ เข้าสางปัญหา ต่อจาก "บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร" ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อ 21 ส.ค. 66
KEY
POINTS
- เปิด 5 ภารกิจท้าทายรอ "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ เข้าสางปัญหา
- ลุยบริหารสภาพคล่อง จากการร่วมรับภาระค่าเอฟทีคงค้างกว่า 9 หมื่นล้าน
- เร่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ลุยบริหารงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ขาดตอนของผู้ว่าการ กฟผ. ท่านเดิมที่ครบวาระตั้งแต่ 21 ส.ค. 66
รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 มีมติเห็นชอบการยืนยันเสนอชื่อให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16)
ตามที่ คณะกรรมการสรรหาที่มี นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน สมัยนั้น เป็นประธาน เสนอต่อบอร์ด กฟผ. ชุดเก่าที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน มีมติเห็นชอบไปรอบหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อจากนี้ กฟผ. จะนำเสนอกระทรวงพลังงาน และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กำกับดูแล เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าวว่า สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่นายเทพรัตน์ ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่จะต้องเร่งแก้ไข ภายหลังครม. มีมติเห็นชอบ ประกอบด้วย
1. การแก้ปัญหาด้านวิกฤติพลังงาน โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านการแก้ปัญหาค่าเชื้อเพลิง ที่ต้องการ ผู้ว่าฯ เป็นผู้ตัดสินใจ
2. การบริหารสภาพคล่อง จากการร่วมรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่เหลืออีกกว่า 9 หมื่นล้านบาท แทนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
3. แก้ปัญหาผลกระทบต่อการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่หาก กฟผ. จะต้องกู้เงินเพิ่มจะต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งวงเงินที่สามารถค้ำประกันให้แก่หน่วยงานรัฐในภาพรวมอาจไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. ได้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และบริหารภาระค่า Ft แล้ว รวม 110,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กฟผ. ต้องไปกู้เงินเพิ่ม สัดส่วนหนี้ของ กฟผ. จะสูงเกินไปกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ. ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นด้วย
4. จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 จากมติสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เดิมที่ 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย รวมถึงงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 รับภาระเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้กฟผ. จะต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีต่อไปอีก ซึ่งเดิมจะได้รับเงินชดเชยราวงวดละ 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะรับภาระถึงงวดเดือนเม.ย. 2568 นั้น อาจจะต้องขยายไปจนถึงงวดสิ้นปี 2568
ดังนั้น จึงเป็นต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจจากผู้ว่าการ กฟผ. บนทางเลือกของข้อมูลกรณีศึกษาค่าเอฟทีที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดในการประกอบกิจการ กฟผ.
5. ด้านการบริหารองค์การ เช่น กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง รวมถึง การบริหารงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ที่ขาดตอนระหว่างผู้ว่าการ กฟผ. ท่านเดิมที่ครบวาระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการดำเนินการในเรื่องของการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. โดยดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น