จับตาบอร์ดใหม่ 'กฟผ.' นัดแรก ถก 'เทพรัตน์' นั่งผู้ว่าฯ คนที่ 16
จับตาบอร์ดใหม่ "กฟผ." หารือนัดแรกสัปดาห์หน้า พร้อมเรียก "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ว่าที่ผู้ว่าฯ คนที่ 16 ถกกรอบนโยบายร่วมกัน แง้ม หากการเจรจาไม่สำเร็จ จ่อเรียกผู้สมัครที่มีคะแนนลำดับที่ 2 "นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์" รับเงื่อนไข ก่อนจะลากยาวล้มกระดานเปิดสรรหาใหม่
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ช่วงต้นเดือนก.พ. 2567 ว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 10 รายชื่อ คณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ดกฟผ.) ชุดใหม่ ภายหลังมีการเปิดรับสมัครตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นั้น บอร์ดกฟผ. จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566
ทั้งนี้ บอร์ด กฟผ. จะเชิญ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งบอร์ดชุดที่ผ่านที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566
"บอร์ดจะหารือกับนายเทพรัตน์ โดยเฉพาะหลักการเรื่องการทำงานซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงรับทราบนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ อาทิ การดำเนินการในเรื่องของการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น"
อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญคือการทำงานของบอร์ดและผู้ว่าฯ กฟผ. จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้ ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายมองว่าหากนับอายุการทำงานปัจจุบันจะทำให้นายเทพรัตน์ ขาดคุณสมบัติเหลือระยะเวลาทำงานไม่ถึง 2 ปีนั้น จะยังคงยึดหลักเกณฑ์การนับอายุในวันที่สมัคร ถือว่ายังมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน
แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมา หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 พร้อมกับมีผู้บริหารเกษียณอายุงานในหลายส่วน ดังนั้น การดำเนินงานภายในจึงไม่ราบรื่นตามไปด้วย โดยเฉพาะการปรับตำแหน่งต่าง ๆ เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารภายในยังต้องอาศัยอำนาจของผู้ว่าฯ มาอนุมัติ พร้อมมอบนโยบายทิศทางการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนในวงเงินที่สูงจะต้องได้รับการอนุมัติโดยบอร์ด กฟผ. ก็ต้องชะลอไปด้วย เป็นต้น
"ความล่าช้าของการจัดตั้งบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ หลังจากที่บอร์ด กฟผ. ชุดเดิมได้ลาออกไปทั้งชุดกระทบกับการขออนุมัติหลายโครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุน ซึ่งเป็นอำนาจของบอร์ด กฟผ. ที่จะต้องอนุมัติโครงการและเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณมาดำเนินโครงการ" แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภายในเดือน ก.พ. 2567 นี้ คณะกรรมการฯ จะต้องเร่งเปิดวาระการประชุมบอร์ดนัดแรกทันที เนื่องจากปกติบอร์ดกฟผ. จะมีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง โดยกำหนดไว้ที่สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ดังนั้น จึงเชื่อว่าการประชุมนัดแรกจะเป็นสัปดาห์หน้า เพื่อเดินหน้าเจรจากับนายเทพรัตน์ ถึงนโยบายการทำงานและร่วมกันในเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งหากเจรจาสำเร็จก็จะสามารถนำเสนอชื่อนายเทพรัตน์ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามหลักการอีกครั้ง
ทั้งนี้ หากกรอบแนวความคิดไม่สามารถดำเนินงานร่วมกันได้ ก็อาจจะมีการพิจารณาผู้สมัครที่เหลือและมีคะแนนในลำดับถัดไปมาคือ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. หารือถึงกรอบนโยบายร่วมกัน รวมถึงผู้สมัครอีก 2 ท่าน คือ นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และนางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หรือหากเลวร้ายกว่านั้น ก็อาจจะมีการเปิดรับสมัครเพื่อสรรหาใหม่อีกครั้ง ซึ่งทุกขั้นตอนก็อยู่ที่บอร์ด กฟผ. แต่เชื่อว่าการเปิดสรรหาใหม่อาจจะทำให้มีความล่าช้าออกไปอีก
"กฟผ. ไม่ควรขาดทั้งบอร์ดและผู้ว่าการ นานไปกว่านี้อีกแล้ว และยิ่งตอนนี้ยังมีปัญหาต่าง ๆ มากมายเมื่อไม่มีผู้ว่าการ ผู้บริหารที่ควรจะได้ปรับตำแหน่ง รวมถึงตอนนี้ตัวซีอีโอ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เกษียณการทำงานแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีตัวผู้ว่าการ ก็เลยยังคงตำแหน่งไว้อย่างเดิม เป็นต้น" แหล่งข่าว กล่าว
รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ผู้ว่าการ กฟผ. ท่านใหม่จะต้องเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย
1. การแก้ปัญหาด้านวิกฤติพลังงาน โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านเชื้อเพลิง ที่ต้องการ ผู้ว่าฯ เป็นผู้ตัดสินใจ
2. การบริหารสภาพคล่อง จากการร่วมรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่เหลืออีกกว่า 9 หมื่นล้านบาท แทนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมถึงการแก้ปัญหาค่าเชื้อเพลิงด้วย
3. แก้ปัญหาผลกระทบต่อการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่หาก กฟผ. จะต้องกู้เงินเพิ่มจะต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งวงเงินที่สามารถค้ำประกันให้แก่หน่วยงานรัฐในภาพรวมอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. ได้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และบริหารภาระค่า Ft แล้ว รวม 110,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กฟผ. ต้องไปกู้เงินเพิ่ม สัดส่วนหนี้ของ กฟผ. จะสูงเกินไปกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ. ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นด้วย
4. จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 จากมติสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เดิมที่ 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย รวมถึงงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 รับภาระเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้กฟผ. จะต้องแบกรับภาระค่า Ft ต่อไปอีก ซึ่งเดิมจะได้รับเงินชดเชยราวงวดละ 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะรับภาระถึงงวดเดือนเม.ย. 2568 นั้น อาจจะต้องขยายไปจนถึงงวดสิ้นปี 2568
ดังนั้น จึงเป็นต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจจากผู้ว่าการ กฟผ. บนทางเลือกของข้อมูลกรณีศึกษาค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดในการประกอบกิจการ กฟผ.
5. ด้านการบริหารองค์การ เช่น กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง รวมถึง การบริหารงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ที่ขาดตอนระหว่างผู้ว่าการ กฟผ. ท่านเดิมที่ครบวาระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566