ตั้ง 'บอร์ด กฟผ.' ใกล้ถึงฝั่ง ลุ้นชง ครม.เคาะ 13 ก.พ. ปูทางเคลียร์ผู้ว่าใหม่
"ปลัดกระทรวงพลังงาน" เผย ได้รายชื่อบอร์ด กฟผ. ครบทั้ง 10 คนแล้ว คาดนำเสนอที่ประชุมครม. เห็นชอบ 13 ก.พ. นี้ สานต่อภารกิจเร่งด่วนเลือกผู้ว่า กฟผ. เดินหน้านโยบายความมั่นคงด้านพลังงาน
Key points
- "กระทรวงพลังงาน" เตรียมเสนอ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ บอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ในวันที่ 13 ก.พ.นี้ หลังได้รายชื่อครบ 10 คนแล้ว
- "ปลัดกระทรวงพลังงาน" ยืนยันว่า "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อผู้ว่า กฟผ.ยังไม่ขาดคุณสมบัติด้านอายุงานไม่ถึง 2 ปี
- คนใน กฟผ.ต้องการให้เร่งรัดการแต่งตั้งบอร์ด หวังให้มีผู้มีอำนาจอนุมัติงบลงทุนโครงการใหญ่
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คาดว่าจะสามารถเสนอรายชื่อคณะกรรมการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ดกฟผ.) ชุดใหม่ทั้ง 10 ท่าน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 ก.พ. 2567 นี้ ภายหลังมีการเปิดรับสมัครตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
"ทั้ง 10 ท่านที่ผ่านการคัดเลือกและเห็นชอบมาได้ครบทั้งหมดเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นบุคคลที่ล้วนแต่มีความรู้ความสามารถตรงตามภารกิจของ กฟผ. อาทิ ด้านวิศวกร ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย ผู้แทนจากมหาวิทยาลัย ฯลณ ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถนำเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อมีมติรับทราบตามขั้นตอนต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อ กฟผ. มีบอร์ดบริหารแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566 โดยบอร์ด กฟผ. จะเชิญ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งบอร์ดชุดที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งไปแล้วแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566
"เนื่องจากมีการเปลี่ยนบอร์ด กฟผ. ทั้งชุด จึงให้เป็นหน้าที่ของบอร์ดชุดใหม่เจรจาหารือกับนายเทพรัตน์ อีกครั้ง เพราะจะต้องทำงานร่วมกันจนครบวาระ"
ทั้งนี้ บอร์ดทั้ง 10 ท่าน จะต้องหารือกับนายเทพรัตน์ โดยเฉพาะหลักการเรื่องการทำงานซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงรับทราบนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ อาทิ การดำเนินการในเรื่องของการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น
"เรื่องสำคัญคือการทำงานของบอร์ดและผู้ว่าฯ กฟผ. จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้ ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายมองว่าหากนับอายุการทำงานปัจจุบันจะทำให้นายเทพรัตน์ ขาดคุณสมบัติเหลือระยะเวลาทำงานไม่ถึง 2 ปีนั้น จะยังคงยึดหลักเกณฑ์การนับอายุในวันที่สมัคร ถือว่ายังมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน"
แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าวว่า พนักงาน กฟผ. อยากให้มีบอร์ดบริหารและตัวผู้ว่าฯ โดยเร็ว เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาภายในเป็นอันดับแรก เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารภายในยังต้องอาศัยอำนาจของผู้ว่าฯ มาอนุมัติ พร้อมมอบนโยบายทิศทางการดำเนินงาน
รวมถึงการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในระดับต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่าง ๆ ที่จะต้องมีการลงทุนในวงเงินที่สูง จะต้องได้รับการอนุมัติโดยบอร์ด กฟผ. ก็ต้องชะลอไปด้วย เป็นต้น