‘EEC’ หนุนเทคโนโลยีจัดการน้ำภาคตะวันออก ชู 4 ข้อเสนอบริหารทรัพยากรยั่งยืน
"อีอีซี"หนุนใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาน้ำภาคตะวันออก ร่วมมือ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล ม.บูรพา พร้อมภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสัมมนา “บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก” สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ ผลักดันลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว สู่การพัฒนาพื้นที่ อีอีซีและชุมชนอย่างยั่งยืน
การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก เป็นความท้าทายมาตลอดเพราะในพื้นที่มีทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรที่ต้องมีการจัดการน้ำอย่างเหมาะสมให้พอเพียงกับการใช้ในทุกภาคส่วน
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง สถานการณ์ภาคตะวันออก พ.ศ. 2567 หัวข้อ “ระบบนิเวศของภาคตะวันออก และการบริหาร จัดการน้ำ” ณ หอประชุมธํารงบัวศรี มหาวิทยาลัยบูรพา
โดยมี ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล เป็นประธาน ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี ร่วมปาฐกถาพิเศษ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมเสวนา และนำเสนอกรณีศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิเสนาะ อูนากูล ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการ TDRI ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรม GISTDA นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. เป็นต้น และมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ร่วมดำเนินการเสวนา
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล กล่าวว่า งานสัมมนาฯ ครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีกลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้มีใช้อย่างยั่งยืน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ตลอดจนสถาบันการศึกษาและเยาวชน อีกทั้งเพื่อนำเสนอ “รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก พ.ศ. 2565” เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้สาธารณชนโดยรวมได้รับทราบสถานภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ โดยมูลนิธิเสนาะ อูนากูล ได้จัดทำรายงานชิ้นนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำเสนอข้อมูลโดยสรุป หรือDashboard เรื่อง State of the Eastern Region เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่
อีอีซีเน้นการบริหารพื้นที่แบบสมดุลย์
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวถึง การบริหารความพิเศษเพื่อโอกาสของ อีอีซี ซึ่งเป็นการพัฒนาภายใต้แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้ใช้ข้อมูลเดียวกับแนวคิดการพัฒนาอีอีซี กลไกในการขับเคลื่อนการลงทุนและการบริหารงานใน สกพอ. การส่งเสริมการให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ การพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี
รวมถึงสิทธิประโยชน์ และมาตรการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนที่ สกพอ. พร้อมให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2566 – 2570
สำหรับงานสัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ ได้นำเสนอกรณีศึกษาในการจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งที่ใช้ระบบเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังของชุมชน เช่น ระบบ Actionable Intelligence Policy (AIP) ที่ GISTDA ได้พัฒนาและทดลองดำเนินการเพื่อเสริมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี และกรณีศึกษาชุมชนในท้องถิ่นที่ บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งมีความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยตนเอง เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่
นอกจากนี้ ภายในการเสวนาโต๊ะกลม เรื่องการจัดการน้ำในภาคตะวันออก ซึ่งมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ดำเนินการเสนวนา ได้เจาะลึกถึงข้อเสนอหลักจากรายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก พ.ศ. 2565 ดังกล่าว รวมทั้งได้มีการอภิปรายจากมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรผู้ใช้น้ำโดยเฉพาะภาคเอกชน รวมทั้ง TDRI GISTDA สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
4 ข้อเสนอจัดการน้ำภาคตะวันออก
โดยในรายงานฯ ได้มี 4 ข้อเสนอหลัก ถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่
1.ปรับวิธีคิดของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ
2.เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยพัฒนาบุคลากรและเพิ่มทักษะความรู้ ให้กับบุคลากรในองค์กรทุกระดับ
3.พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่า Integrated Area-based Water Resource Management (IWRM) โดยอาจดำเนินการในลักษณะ Sandbox ในอีอีซี
และ4.เตรียมแผนรองรับ ป้องกัน และลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเผชิญกับภัยภูมิอากาศ ในเขตพื้นที่อีอีซี รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย