'พาณิชย์' เผย 'ผลไม้' แชมป์ส่งออกสินค้าเกษตรปี 66
“นภินทร”เผย ปี 66 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่า 49,203.1 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 17.3% ของมูลค่าการส่งออกรวมไทยทั้งหมด แนะผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่กติกาโลกใหม่
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ว่า GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนเพียง 9% ของ GDP ประเทศ เท่านั้น และสถิติการส่งออกของไทย แม้ว่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าสินค้าอุตสาหกรรมอยู่มาก
โดยในปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมีสัดส่วน 17.3% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 78.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย (ที่เหลืออีก 4.1% เป็นสินค้าแร่และเชื้อเพลิง) ภาพรวม ปี 2566 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 284,561.8 ล้านดอลลาร์ โดยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นมูลค่า 49,203.1 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 17.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยสินค้าเกษตร 9.4% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 7.9% แบ่งเป็นสินค้าเกษตร 26,801.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.2% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 22,401.4 ล้านดอลลาร์ หดตัว 1.7%
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. ผลไม้ 6,941.6 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 25.9% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร 2. ข้าว 5,144.4 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 19.2% 3. ไก่ 4,082.3 ล้านดอลลาร์สัดส่วน 15.2% 4. มันสำปะหลัง 3,704.4 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 13.8 % และ 5. ยางพารา 3,648.6 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 13.6% รวม 5 อันดับแรก มีสัดส่วน 87.7% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
สินค้าเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรก) ได้แก่ 1. ไข่ไก่สด ขยายตัว 72.4% 2. ข้าว ขยายตัว 29.3% 3.ผลไม้ 22.8% 4. เนื้อและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ที่บริโภคได้ 6.2% และ 5. กุ้งอื่น ๆ (เช่น กุ้งสำหรับทำพันธุ์) 6.0%
ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. จีน 11,262.3 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 42.0%
2. ญี่ปุ่น 3,206.0 ล้านดอลลาร์สัดส่วน 12.0% 3. สหรัฐอเมริกา 1,506.5 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 5.6% 4. มาเลเซีย 1,189.0 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 4.4% และ 5. อินโดนีเซีย 940.1 ล้านดอลลาร์สัดส่วน 3.5 % รวม 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 67.5% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสูงที่สุด 20 อันดับแรก) ได้แก่ 1. สหราชอาณาจักร ขยายตัว 113.7% 2. ฟิลิปปินส์ 63.1%3. แอฟริกาใต้ 35.4% 4. ลาว 18.5% และ 5.สิงคโปร์ 11.0%
นายนภินทร กล่าวว่า ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกคือ 1. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 3,477.8 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 15.5% ของมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 2. น้ำตาลทราย 3,452.0 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 15.4% 3. อาหารสัตว์เลี้ยง 2,464.5 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 11.0% 4. ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ 2,432.3 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 10.9 % และ 5. เครื่องดื่ม 2,045.6 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 9.1% รวม 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 61.9% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด
สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรก) 1. โกโก้และของปรุงแต่ง ขยายตัว 25.6% 2. ผักกระป๋อง และผักแปรรูป 19.2% 3. น้ำตาลทราย 10.0% 4. ไอศกรีม 7.3% และ 5. สิ่งปรุงรสอาหาร 7.1%
ตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. สหรัฐฯ 2,867.7 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 12.8% 2. จีน 2,033.1 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 9.1% 3. ญี่ปุ่น 1,712.5 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 7.6%
4. กัมพูชา 1,444.3 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.5% และ 5. อินโดนีเซีย 1,383.2 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.2% รวม 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 42.2% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรสูงสุด 20 อันดับแรก) 1. จีน ขยายตัว 41.6% 2. ฟิลิปปินส์ 22.5% 3. สหราชอาณาจักร 16.1% 4. ไต้หวัน 12.4% และ 5. เกาหลีใต้ 12.1%
จากข้อมูลดังกล่าว สินค้าเกษตรส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) หรือมีการแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งส่งเสริมและผลักดันให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสูงและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น อาทิ อาหารแห่งอนาคต สินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูป และสารสกัดจากผลผลิตการเกษตร
สินค้าเกษตรส่งออก 5 อันดับแรก คือผลไม้ ข้าว ไก่ มันสำปะหลัง และยางพารา มีมูลค่าการส่งออกรวมกัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 87.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรเพียงไม่กี่รายการ อีกทั้งมูลค่าส่งออกไปยังตลาดส่งออก 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 67.5% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด ซึ่งแสดงว่าไทยพึ่งพาตลาดส่งออกหลักเพียงไม่กี่ตลาดเช่นกัน โดยเฉพาะจีนที่มีสัดส่วนสูงถึง 42.0% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด จึงควรสร้างความหลากหลายของสินค้าและตลาดส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาเพียงบางสินค้าและบางตลาดมากเกินไป
นายนภินทร กล่าวว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ และกระจายรายได้สู่เกษตรกรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 46% ของประชากรทั่วประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังช่วยดูดซับผลผลิตส่วนเกินที่ไม่สามารถบริโภคภายในประเทศได้หมด
อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้เศรษฐกิจภาคเกษตรเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการนำผลการวิจัยและเทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนด้านต่าง ๆ รวมถึงการปรับโครงสร้างการส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ มุ่งสู่การส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ปรับสินค้าส่งออกให้มีความหลากหลายมากขึ้น และกระจายตลาดส่งออกใหม่ ๆ ควบคู่กับการรักษาตลาดเดิม (สหรัฐฯ จีน และอาเซียน) รวมทั้งต้องพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ปฏิบัติตามกติกาการค้าใหม่ ๆ อาทิ ไม่ทำลายหรือบุกรุกพื้นที่ป่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เป็นไปตามที่ตลาดคู่ค้าต้องการ