อ่างฯนฤบดินทรจินดา คืบ94 % เกษตรกร 97 % พอใจ ขยายโอกาสสร้างอาชีพสร้างรายได้
สศก. ติดตามการใช้ประโยชน์อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา คืบหน้าก่อสร้างแล้ว 94% พบ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 97 พอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมากถึงมากที่สุด
KEY
POINTS
Key Points
- ผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (เขื่อนห้วยโสมง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งนับเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วไปกว่า 94% และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2569
-
เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ประมาณ 1,664 ครัวเรือน ทางโครงการฯ ได้ช่วยเหลือและสนับสนุน ส่งเสริมการเลี้ยงปลา เกษตรกร ร้อยละ 44 มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12,414 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัว ปลา ไก่เนื้อ ไข่ และการแปรรูปผลผลิต เป็นต้น
-
ในภาพรวมเกษตรกรร้อยละ 97 พอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมากถึงมากที่สุด และมีความตั้งใจทำกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปเผยแพร่/ขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (เขื่อนห้วยโสมง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งนับเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วไปกว่า 94% และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2569
โดยมีลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน มีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ใช้เป็นแหล่งน้ำด้านการอุปโภค-บริโภค และการประปา รักษาระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง
อีกทั้งใช้อ่างเก็บน้ำเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาสการเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้
จากการติดตามของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ลงพื้นที่ติดตามการใช้ประโยชน์ ระหว่างวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ในปีเพาะปลูก 2566/2567 (เดือนพฤษภาคม 2566 - เดือนเมษายน 2567) สามารถจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 33.12 ล้านลบ.ม. ส่วนในช่วงฤดูฝนจัดสรรน้ำได้ 9.40 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศและเกษตรกรรมในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ไม้ผล นาข้าว และบ่อปลา และยังใช้น้ำเพื่อชะลอความเค็มในลุ่มน้ำบางปะกง ในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 64.5 ล้าน ลบ.ม. และเจือจางน้ำเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี 18.11 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ เช่น ผลกระทบจากการขุดและถมพื้นที่เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ การสูญเสียพื้นที่ดินและทรัพยากรดินบางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเดิมของดินในกิจกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1,664 ครัวเรือน โดยเกษตรกรภายใต้แผนดังกล่าว จะได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการผลิตแบบเกษตรผสมผสาน รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต เป็นต้น
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สำหรับเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ ทางโครงการฯ ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนใน 3 ด้านหลัก คือ
ด้านเศรษฐกิจซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการ สนับสนุนพันธุ์ไม้ ปุ๋ยคอก และปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกพืชทางเลือกใหม่กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการป้องกันการเสื่อมโทรมของดินในพื้นที่ชลประทาน โดยส่งเสริมการปรับปรุงดิน และการพัฒนาเกษตรกรด้านการพัฒนาที่ดิน พร้อมสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพกรมประมงดำเนินการพัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และการประมง ให้การส่งเสริมการเลี้ยงปลา เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในช่วงฤดูปลาวางไข่ พร้อมสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหาร ส่งผลให้เกษตรกรร้อยละ 44 มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12,414 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัว ปลา ไก่เนื้อ ไข่ และการแปรรูปผลผลิต เป็นต้น
เกษตรกรร้อยละ 67 สามารถลดรายจ่ายได้เฉลี่ย 9,213 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากการนำพืชผักสวนครัว ปลา ไก่ ไข่ มาบริโภค ในครัวเรือน เป็นต้น และเกษตรกรร้อยละ 44 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้เฉลี่ย 3,259 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำหมัก ปุ๋ยหมักใช้เองแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การใช้สารชีวภัณฑ์แทนการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและได้รับสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากหน่วยงาน เป็นต้น
ด้านสังคมส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มโดยเกษตรกรร้อยละ 70 มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม ทางการเกษตร เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ กลุ่มแปรรูปและผลิตอาหารปลา กลุ่มไม้ผล กลุ่มปุ๋ยหมัก นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ และเกษตรกรร้อยละ 83 มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในชุมชน เช่น การปลูกต้นไม้ในชุมชน ปล่อยปลา ลงเขื่อน ร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน
ด้านสิ่งแวดล้อมส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี โดยเกษตรกรร้อยละ 70 ลดการใช้สารเคมีในการผลิต และร้อยละ 77 หันมาใช้อินทรียวัตถุเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินช่วยให้ดินมีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในภาพรวมเกษตรกรร้อยละ 97 พอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมากถึงมากที่สุด และมีความตั้งใจทำกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปเผยแพร่/ขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม โครงการฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากโครงการฯ อาจยังไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ และในส่วนกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ติดตาม และให้คำแนะนำเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรภายหลังได้รับประโยชน์จากน้ำชลประทาน โดย สศก. มีแผนจัดสัมมนานำเสนอผลการติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567