เปิดเหตุผล ITD เจรจาต่างชาติ ขายหุ้นเหมืองโปแตช หลังขาดสภาพคล่อง
“ไอทีดี” จ่อขายหุ้นในเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น ที่ได้สิทธิเหมืองอุดรฯ หลังขาดสภาพคล่องขอเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 5 ชุด นายกฯ ทวงถามแหล่งเงินทุน “อุตสาหกรรม” รับอยู่ในแผนหาผู้ร่วมทุนใหม่ เผยรัฐบาลเร่งเหมืองโปแตชที่ล่าช้า ชี้ซาอุฯ สนลงทุนเหมืองโปแตชในไทย
KEY
POINTS
- ITD ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น ที่ได้สิทธิทำเหมืองที่อุดรฯ มีแผนที่จะขายหุ้นเหมืองโปแตชให้ผู้สนใจ
- ที่ผ่านมา ITD มีปัญหาการเจรจาสถาบันการเงินเพื่อขอการสนับสนุน Project Finance ของโครงการเหมืองแร่โปแตช
- ITD มีปัญหาด้านสภาพคล่องทำให้ต้องเลื่อนการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 5 ชุด กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้
- กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับรายงานจากเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น ถึงแนวทางการเจรจาหาผู้ลงทุนรายใหม่
โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ที่บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ได้รับประทานบัตรการทำเหมืองเมื่อเดือน ต.ค.2565 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่าเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่มีแผนการผลิตปีละ 2 ล้านตัน และประเมินว่าจะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน และมีมูลค่าการลงทุนโครงการ 36,000 ล้านบาท
สำหรับบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2527 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีชื่อเดิม คือ บริษัท ไทยอะกริโกโปแตซ จำกัด มีกรรมการบริษัท 7 คน เช่น นายเปรมชัย กรรณสูต, นางนิจพร จรณะจิตต์, นายธรณิศ กรรณสูต
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าว บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทก่อสร้างในกรุงเทพฯ กำลังหารือที่ปรึกษารายหนึ่งและคุยกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพรวมทั้งจากจีน การพูดคุยกับผู้ที่สนใจกำลังดำเนินอยู่ และอาจไม่ได้ทำข้อตกลงกันก็ได้
บลูมเบิร์กส่งคำถามไปยังเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ ซึ่งส่งต่อไปให้ไอทีดีแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
ทั้งนี้ ไอทีดีเป็นบริษัทก่อสร้างใหญ่สุดรายหนึ่งของไทย ซื้อเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ มาเมื่อปี 2549 บริษัทได้สิทธิสำรวจและพัฒนาแหล่งโปแตซชั้นดีใน จ.อุดรธานี
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซยื่นขอสิทธิในแหล่งโปแตซดังกล่าวขนาด 26,565 ไร่ในปี 2546 แต่ต้องรอจนถึงปี 2565 เพิ่งได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการให้ดำเนินโครงการเป็นเวลา 21 ปี บริษัทมีกำลังการผลิตโปแตซปีละ 2 ล้านตัน
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มาตรวจเหมืองหลักเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2567 และสอบถามแหล่งที่มาของเงินทุนเพื่อทำโครงการ พร้อมพบกับประชาชนผู้คัดค้านเหมืองโปแตซ
สำหรับ ITD ก่อตั้งขึ้นในปี 2497 มูลค่าตลาดเคยสูงราว 3 พันล้านดอลลาร์ในทศวรรษ 1990 แล้วตกลงมาตั้งแต่นั้น ปัจจุบันอยู่ที่ 100 ล้านดอลลาร์ ไตรมาสสามของปี 2566 บริษัทรายงานขาดทุนสุทธิ 44.7 ล้านบาท ปี 2565 ทั้งปีขาดทุน 4.76 พันล้านบาท
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานและผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด ที่เคยต้องโทษคดีเสือดำ ได้รับการพักโทษและปล่อยตัวเมื่อปีก่อน
ก่อนหน้านี้กรุงเทพธุรกิจเคยรายงานเมื่อเดือน ม.ค.ว่า ไอทีดีมีแผนเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดในเดือน ก.พ.ต่อมาผู้ถือหุ้นกู้ตกลงที่จะขยายวันไถ่ถอนออกไปอีก 2 ปี
“อุตสาหกรรม” ชี้อยู่ในแผนหาผู้ร่วมทุนใหม่
นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเท่าที่ได้รับรายงานว่า การหาผู้ร่วมทุนเข้ามาถือหุ้นร่วม ITD ถือเป็นแผนการดำเนินการที่ ITD วางไว้อยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินการธุรกิจเหมืองแร่มีการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการการทำเหมืองแร่โดยคนต่างด้าวและการห้ามยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น
“เข้าใจว่าเขาคงหาผู้ร่วมทุนที่อาจเป็นแผนของเขาอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจเหมืองแร่ถือเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ และผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหากเป็นการหาผู้ร่วมทุนและแบ่งสัดส่วนหุ้น 30-40% ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไร” นายอดิทัต กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือน ต.ค.2565
ทั้งนี้บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด รายงานกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเดือน ธ.ค.2566 ว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุน Project Finance และหากการเงินอนุมัติจะเร่งรัดการผลิตแร่โปแตชได้ภายใน 3 ปี
สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ 26,000 ไร่ ตั้งอยู่อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยมีปริมาณสำรองแร่รวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะนำแร่ขึ้นมาผลิตเป็นปุ๋ยโปแตชได้ 34 ล้านตัน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากโครงการมีความล่าช้า ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญนักลงทุนซาอุดิอาระเบียที่สนใจลงทุนในไทย เพื่อเดินทางมาไทยและเยี่ยมชมเหมืองแร่โปแตชในไทยในเดือน ก.พ.2567
“ไอทีดี”เจอปัญหาสภาพคล่อง
ทั้งนี้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในโครงการเหมืองแร่โปแตช ผ่านทางบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ITD ถือหุ้นใหญ่ 90% และกระทรวงการคลังถือหุ้น 10%
สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตช ซึ่งบริษัท APPC ได้รับสิทธิดังกล่าวระยะเวลา 25 ปี เป็นคำขอประทานบัตร 4 แปลง ของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ITD เผชิญสารพัดปัญหาธุรกิจส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ทั้งโครงการลงทุนหลายโครงการมีความผิดพลาด ทั้งตัวโครงการที่ไม่เป็นไปตามแผน และโครงการที่ล่าช้าไปกว่าแผน อันเนื่องมาจากความชัดเจนของภาครัฐ และสถานการณ์ไม่เป็นใจ จนส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัทตึงตัวมาก
รวมทั้งการลงทุนในโครงการทวาย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่เมียนมา มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ไปจนถึงโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เกือบ 4,000 ล้านบาท โดย ITD ไม่ได้มีรีเทิร์นจากโครงการเหล่านี้กลับเข้ามาเลย ประกอบกับปัญหางบค้างท่อและการเบิกจ่ายงบจากภาครัฐที่ ITD เข้าไปรับงานมีความล่าช้า
ขอเลื่อนชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวสะท้อนมาที่ฐานะการเงินของ ITD จนต้องตัดสินใจเลื่อนจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ 5 รุ่น ออกไป 2 ปี และชำระเพียงดอกเบี้ยหุ้นกู้ โดยเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 ได้ส่งหนังสือแจ้งผู้ถือหุ้นรับทราบ ประกอบด้วย ITD มีหุ้นกู้ ITD242A ที่เตรียมจะครบกำหนด 15 ก.พ. 2567 ประมาณ 2,000 ล้านบาท และยังมีหุ้นกู้ถึงเดือน มิ.ย. 2568 คงค้างอีก 4 รุ่น รวม 1.24 หมื่นล้านบาท (รวม 5 รุ่น 1.45 หมื่นล้านบาท) ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติตามที่ ITD ขอแล้ว
สอดคล้องกับกระแสเงินสดของ ITD ในมือมีเพียง 4,600 ล้านบาท ตัวเลข ณ เดือน ก.ย.2566 และมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 8,200 ล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาหุ้นกู้จะแก้ไขและต่อลมหายใจให้ ITD ได้ แต่ปัญหายังไม่หมด เนื่องจาก ITD ยังมีภาระเงินกู้จากธนาคารอีก 2.32 หมื่นล้านบาท และหนี้สินจากสัญญาเช่าและหนี้สินทางการเงินอื่นๆ อีก 1,200 ล้านบาท ส่งผลให้ ITD เผชิญความยากลำบากในการใช้ช่องทางระดมทุนอื่นๆ มาใช้หนี้เงินกู้แบงก์
ทั้งนี้ ย้อนดูงบการเงินของ ITD ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง ยกเว้นช่วง 9 เดือนปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิราว 379 ล้านบาท แต่ถ้าแคะดูไส้ในของงบการเงินงวดนี้พบว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายสินทรัพย์ออกไปจึงทำให้งบดูดีมีกำไร
ขณะที่งบปีอื่นขาดทุนสุทธิทุกปี โดยปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,104 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 37.34 ล้านบาท