ปี 66 ไทยครองเบอร์ 1 อาเซียน ส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาด FTA มากสุด
ไทยใช้เอฟทีเอเป็นแต้มต่อการค้าส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า เผย ปี 66 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ เฉียด 2 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน สร้างแต้มต่อการค้า “สินค้าเกษตร”ไทย
ภาพรวม ปี 2566 ส่งออกไทย เป็นมูลค่า 284,561.8 ล้านดอลลาร์โดยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นมูลค่า 49,203.1 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 17.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยสินค้าเกษตร 9.4% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 7.9% แบ่งเป็นสินค้าเกษตร 26,801.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.2% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 22,401.4 ล้านดอลลาร์ หดตัว 1.7%
โดยความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้กับสินค้าของไทยในตลาดโลก ปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่ทำเอฟทีเอกับไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ส่งออกจากไทยส่วนใหญ่แล้ว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่มีความท้าทายสูง
ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัญหาเงินฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาอื่นๆ ก็ส่งผลให้ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ ลดลง 3% มูลค่า 167,200 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ตามหากพิจารณากลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ พบว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่งออกไปยังประเทศเอฟทีเอ ขยายตัวได้ดี โดยข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า
- สินค้าเกษตร มีมูลค่า 19,563 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4% คิดเป็นสัดส่วนถึง 73 % ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
- สินค้าเกษตรแปรรูป มีมูลค่า 15,074 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2% คิดเป็นสัดส่วน 67.3% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหมด ซึ่งตลาดคู่ค้า FTA ที่เป็นตลาดส่งออกหลัก อาทิ จีน ขยายตัว 11% และอาเซียน ขยายตัว 5%
“โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก
สำหรับสินค้าที่ส่งออกไป ตลาดคู่ค้า FTA ขยายตัวได้ดี อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ขยายตัว 23% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ จีน มาเลเซีย และเวียดนาม ดังนี้
- ข้าว ขยายตัว 92% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
- ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 19% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
- กาแฟ ขยายตัว 43% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ กัมพูชา ญี่ปุ่น และจีน
- น้ำตาล ขยายตัว 14% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 9% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ จีน ออสเตรเลีย และสปป.ลาว
- ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัว 18% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน
- ไอศกรีม ขยายตัว 11% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม
ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ 15 ฉบับ โดยเอฟทีเอไทย-ศรีลังกา เป็นเอฟทีเอล่าสุดของไทย ครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้ากว่า 85% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด
รวมทั้งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ ภายในปี 2567 และกำลังเร่งเดินหน้าเอฟทีเออีกหลายฉบับ ให้เปิดทางให้สินค้าไทยที่ส่งออกได้รับประโยชน์มากที่สุด