สภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เกาะติดผลกระทบ สหรัฐ คว่ำบาตรรัสเซียชุดใหม่ 500 รายการ
"สภาธุรกิจไทย-รัสเซีย" เผยผู้ประกอบกอบการไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ กรณีสหรัฐเตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดใหม่เพิ่ม 500 รายการ ย้ำ เป็นอุตสาหกรรมทางอาวุธ-มุ่งเพันธมิตรหนุนรัสเซีย
KEY
POINTS
- "วอลลี อาเดเยโม" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ "รอยเตอร์" จะคว่ำบาตรเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียมากกว่า 500 เป้าหมาย หลังครบรอบ 2 ปีที่รัสเซียรุกรานยูเครน
- "เกรียงไกร เธียรนุกูล" ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ระบุ การคว่ำบาตรรอบใหม่ ยังไม่มีผลกระทบกับภาคธุรกิจของประเทศไทย
- "สภาธุรกิจไทย-รัสเซีย" ระบุ สหรัฐมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมทางอาวุธทางการทหารของรัสเซีย และธุรกิจในประเทศที่สามซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้รัสเซีย
- จับตา สภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรครีพับลิกัน จะอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือยูเครนอีกหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายวอลลี อาเดเยโม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ว่า สหรัฐจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียมากกว่า 500 เป้าหมายในวันที่ 23 ก.พ. 2567 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มีขึ้นหลังจากเพิ่งครบรอบ 2 ปีที่รัสเซียรุกรานยูเครน
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า สภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด ซึ่งสถานการณ์การสู้รบดังกล่าว ยังไม่มีผลกระทบกับภาคธุรกิจของประเทศไทย
ทั้งนี้ เนื่องจาก ทางสหรัฐจะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมทางอาวุธทางการทหารของรัสเซีย และธุรกิจในประเทศที่สามซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้รัสเซียให้สามารถเข้าถึงสินค้าที่ต้องการได้ โดยสหรัฐมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้รัสเซียต้องรับผิดชอบต่อสงครามและการเสียชีวิตของนายอเล็กเซ นาวาลนี คู่ปรับทางการเมืองของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียด้วย
"เท่าที่ทราบจากคือตอนนี้ทางสหรัฐจะเน้นไปด้านอุตสาหกรรมอาวุธและประเทศที่ 3 ที่เป็นพันธมิตรคอยช่วยเหลือแอบซื้ออาวุธให้กับรัสเซีย จึงยังไม่กระทบกับไทย แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังลุ้นอยู่คืองบประมาณช่วยเหลือจากสหรัฐจำนวนมากหมดลงแล้ว จึงจะต้องหางบใหม่ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านทางสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่อนุมัติ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กองทัพของยูเครนอ่อนกำลังลง จนทำให้ต้องทิ้งฐานในเมืองล่าสุด จึงต้องติดตามว่าสหรัฐจะอนุมัติงบประมาณช่วยเหลืออีกหรือไม่" นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นมาตรการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดในบรรดามาตรการคว่ำบาตรจำนวนหลายพันรายการที่สหรัฐและพันธมิตรประกาศใช้ต่อรัสเซียมาแล้ว หลังจากที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อปี 2565 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นราย และบ้านเรือนในเมืองต่าง ๆ ถูกทำลายกลายเป็นซากปรักหักพัง
บทลงโทษครั้งใหม่นี้มีขึ้นในขณะที่สหรัฐและพันธมิตรตั้งเป้าที่จะรักษาแรงกดดันต่อรัสเซีย แม้จะมีความไม่แน่นอนว่ารัฐสภาสหรัฐจะอนุมัติความช่วยเหลือด้านความมั่นคงเพิ่มเติมให้กับยูเครนหรือไม่
รายงานระบุว่า เงินทุนที่ได้รับการอนุมัติจัดสรรให้กับยูเครนก่อนหน้านี้นั้น ทางคณะทำงานของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ใช้หมดไปแล้ว และการเสนอขอเงินทุนเพิ่มเติมจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากก็ไม่คืบหน้า
“การคว่ำบาตรและการควบคุมการส่งออกมุ่งเป้าเพื่อบั่นทอนศักยภาพของรัสเซีย ซึ่งจะทำให้รัสเซียทำสงครามในยูเครนลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนยูเครนอย่างมีประสิทธิผล เพื่อเพิ่มศักยภาพให้พวกเขาในการปกป้องตนเอง สภาคองเกรสจะต้องดำเนินการเพื่อจัดหาทรัพยากรและอาวุธที่จำเป็นให้กับยูเครนด้วย” นายอาเดเยโม กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าแค่เพียงมาตรการคว่ำบาตรนั้นไม่เพียงพอต่อการหยุดยั้งรัสเซียไม่ให้โจมตียูเครน