ธรรมนัส จี้ ส.ป.ก. สอบพื้นที่เขาใหญ่ เร่งทำป่าปฏิรูป เขตBuffer Zone
ธรรมนัส สั่ง ส.ป.ก. ตรวจสอบพื้นที่รอยต่อเขาใหญ่ พบจัดสรรไม่ถูกต้องให้ดำเนินการตามกฎหมาย แยก Buffer Zone เป็นป่าปฏิรูป พร้อมจัดสรรที่ดินว่างเปล่ารองรับเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีที่ดินทำกิน
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้การบริหารจัดการพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินมีเหมาะสมตามหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และบริบทความจริงของสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสั่งการให้ ส.ป.ก. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเคร่งครัด ประกอบด้วย
1. ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณพื้นที่ตามแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และพื้นที่ต่อเนื่อง ว่าเป็นการจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดิน ให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด
2. จัดทำพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างพื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติ โดยกันพื้นที่ดังกล่าวให้จัดทำเป็นป่าในเขตปฏิรูปที่ดิน
3. ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณรอยต่อกับพื้นที่ในความรับผิดชอบของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐอื่น ๆ โดยให้ดำเนินการทั่วทั้งประเทศ ว่ามีกรณีจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบ ด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือยังมีที่ดินที่ ยังไม่ใด้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด หากพบว่าการจัดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องโดยเคร่งครัด
4.เตรียมการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรหรือที่ดินว่างเปล่ารองรับเกษตรกร กลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีที่ดินทำกินโดยให้จัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเหล่านี้ตามระเบียบ ส.ป.ก. ต่อไป
ทั้งนี้ ส.ป.ก. และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) หารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเรื่องแนวเขตพื้นที่ทับซ้อนบริเวณพื้นที่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยทั้ง 2 หน่วยงาน เห็นพ้องในการเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ที่มี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน แต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาการทับซ้อนในที่ดินของรัฐ
โดยมีผู้แทนจาก 9 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับที่ดินเป็นคณะทำงาน โดยให้นำขอบเขตพื้นที่ที่ทับซ้อนกันในทุกแห่งมากำหนดเป็นเป้าหมายในการตรวจสอบร่วมกัน พร้อมกำหนดให้คณะทำงานต้องมีการนัดหารือติดตามความคืบหน้าทุกเดือน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว