ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยยิ่งวันยิ่งชัดเจน | บัณฑิต นิจถาวร
สัปดาห์ที่แล้วสองหน่วยงานเศรษฐกิจของประเทศ คือ สภาพัฒน์และแบงค์ชาติ แถลงข่าวพร้อมกันเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบธนาคารพาณิชย์ปีที่แล้ว
ข้อมูลที่แถลงตอกย้ำว่าเศรษฐกิจเราติดกับดักการขยายตัวตํ่าไม่ไปไหน การเติบโตที่มีขับเคลื่อนด้วยการก่อหนี้และรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสําคัญ และรายได้ที่ขยายตัวต่ำก็เริ่มสร้างปัญหาการชำระหนี้ต่อส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ เช่น ครัวเรือน ธุรกิจเอสเอ็มอี
ถ้าไม่แก้ไข ปัญหาจะลุกลามและอาจบานปลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
สํานักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 1.9 ตํ่ากว่าร้อยละ 2 เป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ทุกฝ่ายคาด ขับเคลื่อนโดยการบริโภคเอกชนและรายได้จากการท่องเที่ยว
โดยเศรษฐกิจไตรมาสสี่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 และหดตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แสดงถึงโมเมนตัมที่อ่อนแอของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจปีนี้ ทําให้สภาพัฒน์ปรับประมาณเศรษฐกิจปีนี้ลง เป็นร้อยละ 2.2-2.9
ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติ ที่แถลงตัวเลขภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ปีที่แล้ว ก็ให้ข้อมูลในทางเดียวกัน คือ
แม้ระบบธนาคารพาณิชย์มั่นคงมีเสถียรภาพ วัดโดยเงินกองทุน เงินสํารอง และสภาพคล่อง แต่การเติบโตของสินเชื่อซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การขยายตัวติดลบร้อยละ 0.3 จากปีก่อน สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ โดยที่ลดลงมากคือสินเชื่อธุรกิจ ติดลบร้อยละ 1.7
และที่ติดลบมากสุดร้อยละ 5.1 คือสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและเล็กวงเงินตํ่ากว่า 500 ล้านบาท ส่วนที่ขยายตัวคือสินเชื่อเพื่อการบริโภค ขยายตัวร้อยละ 2.3 และที่โตเร็วสุดคือ สินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวร้อยละ 7 สูงกว่าอัตราการเพิ่มของรายได้ประเทศ
สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ภาพรวมสิ้นปีที่แล้วยังทรงตัว คืออัตราอยู่ที่ 2.66 แต่ถ้าดูไส้ใน ตัวเลข NPL จะสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในหมวดสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กและสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งเป็นสินเชื่อบุคคล
สะท้อนผลของเศรษฐกิจขยายตัวตํ่า ที่เริ่มกดดันความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือน
ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานเครดิตบูโรก็คอนเฟิร์มปัญหาเดียวกันนี้ และชี้ว่าความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทยเสื่อมลงปีที่แล้ว จากการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงมากขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ปีนี้
ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลทางการ เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คําถามคือ ข้อมูลเหล่านี้กําลังชี้อะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและปัญหาที่เศรษฐกิจเรามี ซึ่งสำหรับผม ข้อมูลให้ข้อสรุปสําคัญสามเรื่อง
หนึ่ง เศรษฐกิจเราติดกับดักเศรษฐกิจขยายตัวตํ่า ที่อัตราการขยายตัวปีที่แล้วทําได้เพียงร้อยละ 1.9 ไม่ต่างกับอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.8 ช่วงสิบปีก่อนหน้า
ชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่ไม่มีพลัง ไม่มีสินค้า หรือความสามารถใหม่ที่จะสร้างรายได้และขับเคลื่อนการเติบโต ทำให้รายได้ของคนในประเทศโตตํ่า ต้องพึ่งการท่องเที่ยวและการก่อหนี้ทั้งโดยภาครัฐและเอกชนมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เช่น หนี้ครัวเรือนอย่างที่เห็นจากตัวเลขปีที่แล้ว ที่ไม่ยั่งยืนและอาจสร้างปัญหาเสถียรภาพตามมา นี่คือปัญหาของเศรษฐกิจเรา คือไม่มีตัวขับเคลื่อนที่จะเป็นความหวังให้เศรษฐกิจเติบโตและสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ
สอง การพึ่งการก่อหนี้เพื่อให้เศรษฐกิจมีการใช้จ่ายและเติบโตทำให้ระดับหนี้ของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนขณะนี้อยู่ประมาณร้อยละ 90-91 ของรายได้ประชาชาติ หนี้ภาคธุรกิจเอกชนก็ใกล้เคียงกันที่ประมาณร้อยละ 89-90 ขณะที่หนี้ภาครัฐล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 61.3 ของรายได้ประชาชาติ
หนี้เหล่านี้ต้องชำระคืนและการชําระคืนมักมีปัญหาถ้าเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ คือรายได้เพิ่มไม่มากพอที่จะชำระหนี้
ประเทศเราขณะนี้อาการของปัญหาชำระหนี้เริ่มปรากฏให้เห็นในภาคครัวเรือนจากที่เศรษฐกิจขยายตัวตํ่า ทําให้ครัวเรือนขาดรายได้และผิดนัดชําระหนี้
ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่ำ ปัญหานี้ก็อาจลามไปสู่หนี้ภาคธุรกิจและสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เพราะทุกวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลก ต้นเหตุจะมาจากความเป็นหนี้ทั้งสิ้น ที่ประเทศก่อหนี้มากเกินและปัญหาเกิดขึ้นเมื่อความสามารถในการชําระหนี้เปลี่ยนไป
สาม ในแง่นโยบาย ที่สำคัญมากสุดขณะนี้คือทําให้เศรษฐกิจไทยหลุดออกจากกับดักการขยายตัวตํ่าโดยมาตรการที่จะสร้างงาน สร้างการลงทุนให้เกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้ประชาชนมีงานทํา มีรายได้ เมื่อประชาชนมีรายได้การผิดนัดชําระหนี้ก็จะลดลง
ที่ต้องตระหนักคือ การลงทุนจะไม่เกิดขึ้นด้วยตัวเองถ้าประเทศไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะสร้างบรรยากาศและภาวะแวดล้อมดึงดูดให้มีการลงทุน ซึ่งสิ่งที่ต้องทําคือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยปฏิรูปการแข่งขัน ความเป็นเสรีของกลไกตลาด ทักษะแรงงาน คุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพระบบราชการ การบังคับใช้กฎหมาย และลดการทุจริตคอร์รัปชัน
นี่คือสิ่งที่ต้องทําเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจปีนี้และปีต่อๆ ไปวนเวียนอยู่ในกับดักการขยายตัวต่ำ การปฏิรูปคือการปลดโซ่ตรวนให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี ที่คนไทยมี พุ่งทะยาน เหมือนดอกไม้ที่จะบานสะพรั่งพร้อมกันทั่วประเทศ นี่คือโอกาสที่รัฐบาลควรฉกฉวยและทําให้เกิดขึ้น.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล