CP ยื่นเงื่อนไขการเงินใหม่ ยื้อเจรจาแก้สัญญา 'ไฮสปีดเทรน'
“ซีพี” ยื่นเงื่อนไขใหม่ปรับโครงสร้างทางการเงิน – แก้สัญญาแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เจรจาแลกลงทุน 9 พันล้านบาท ก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน “ไฮสปีดเทรน” ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ด้านการรถไฟฯ ตั้งเป้า 1 เดือนสางปัญหาจบ ย้ำเอกชนยังไม่ส่งสัญญาณล้มโครงการ
KEY
POINTS
- “ซีพี” ยื่นเงื่อนไขใหม่ 3 - 4 ประเด็น ยื้อเจรจาแก้ไขสัญญาไฮสปีดสามสนามบิน
- เสนอขอปรับโครงสร้างทางการเงิน พร้อมแก้สัญญาจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
- รับข้อเสนอลงทุน 9 พันล้านบาท สร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง
- การรถไฟฯ ตั้งเป้า 1 เดือนเจรจาต้องจบ ยืนยันเอกชนยังไม่ส่งสัญญาณล้มโครงการ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ขยายเวลาการส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริม ครั้งที่ 3 สำหรับไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ทางเอกชนจึงได้หารือร่วมกับ ร.ฟ.ท.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเตรียมเดินหน้าโครงการ
“การจะออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ได้นั้น ทางเอกชนต้องไปออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งตอนนี้ทางเอกชนต้องการเจรจาให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีดไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองด้วย ซึ่งหากประเด็นนี้ได้ข้อสรุปก็จะเดินหน้าโครงการได้ โดยการรถไฟฯ คาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนี้”
สำหรับประเด็นการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าหากให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ และประชาชน เพราะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที ไม่ต้องผ่านขั้นตอนประมูล แต่หาก ร.ฟ.ท.เป็นผู้ลงทุนเองจากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้นั้น ต้องใช้วงเงินก่อสร้างราว 9 พันล้านบาท และต้องใช้เวลานานในกระบวนการของบประมาณ รวมทั้งต้องเริ่มกระบวนการประกวดราคาด้วย
อย่างไรก็ดี กลุ่มซีพีพร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยจะรับผิดชอบวงเงินลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาช่วงดังกล่าวราว 9 พันล้านบาท แต่มีเงื่อนไขประมาณ 3-4 ประเด็น เกี่ยวกับเรื่องการปรับโครงสร้างทางการเงิน รวมไปถึงสัญญาบริหารสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องเจรจาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ แต่ยืนยันว่าจากการเจรจายังไม่เห็นสัญญาณจากกลุ่มซีพีว่าจะล้มเลิกไม่ทำโครงการ
นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า กรณีการขอใช้และขอถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ที่จะต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) มักกะสัน ซึ่งสถานะปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาในการดำเนินการ เพราะหากท้ายที่สุดไม่สามารถดำเนินการได้ ร.ฟ.ท.จะเจรจาขอลดขนาดพื้นที่เช่าลง แต่หากเอกชนไม่ยอมลดขนาดพื้นที่ ก็จะมีการพิจารณาชดเชยที่ดินในแปลงอื่นทดแทน
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เผยว่า ขณะนี้การเจรจาเกี่ยวกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินยังติดประเด็นพื้นที่ทับซ้อนโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน เนื่องจากล่าสุดทางเอกชนตกลงจะรับผิดชอบงานก่อสร้างและวงเงินลงทุนทั้งหมดราว 9 พันล้านบาท
แต่เอกชนขอเจรจาเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทางการเงิน ทำให้ต้องนำเรื่องนี้มาเจรจากันอีก คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ เพื่อเร่งให้เอกชนไปรับหนังสือส่งเสริมการลงทุน และออกหนังสือ NTP ตามเป้าหมาย
สำหรับกรณีการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง แรกเริ่มมีการเจรจาให้เอกชนคู่สัญญา คือ เอเชียเอราวัน ลงทุนสร้างงานโยธาช่วงทับซ้อนนี้วงเงิน 9,207 ล้านบาท หลังจากนั้นภาครัฐจะทยอยจ่ายคืนเป็นงวด แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป หลังจากนั้นทาง ร.ฟ.ท.มีแนวคิดที่จะก่อสร้างพื้นที่ช่วงนี้เอง เพราะมองว่าการเจรจาหากยังไม่ได้ข้อสรุปอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงการไฮสปีดไทย-จีน
แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับว่าการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างจะเกิดประโยชน์สูงสุดกว่า เพราะสามารถเร่งรัดงานก่อสร้างได้ทันที ซึ่งหากกลุ่มซีพีสามารถรับหนังสือส่งเสริมการลงทุน และมีการออกหนังสือ NTP โครงการไฮสปีดเชื่อสามสนามบินได้ ก็จะมีการผลักดันงานก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนนี้ทันที เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเปิดให้บริการไฮสปีดไทย-จีน
ขณะที่ประเด็นการจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งในสัญญาให้ชำระงวดเดียว 10,671 ล้านบาท แต่เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่ศึกษาไว้ ประกอบกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน ส่งผลให้มีการเจรจาแก้ไขสัญญาใหม่ โดยเอกชนสามารถแบ่งชำระเป็นงวด
โดยเมื่อมีการลงนามสัญญาใหม่ เงื่อนไขสัญญาระบุไว้ว่าเอกชนจะต้องเริ่มจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตามที่เสนอขอผ่อนจ่ายรวม 7 งวด แบ่งเป็น งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท โดยเมื่อลงนามสัญญาแล้วเสร็จ เอกชนจะต้องจ่ายค่าสิทธิรวม 3 งวด วงเงินรวมกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นยอดชำระย้อนหลังรวม 3 ปี ระหว่างปี 2564 – 2566 ส่วนที่เหลืออีก 4 งวด จะจ่ายตามกำหนดสัญญาภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี
ทั้งนี้ การเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่กลุ่มซีพีเสนอปรับโครงสร้างทางการเงิน 3-4 ประเด็นนั้น มีบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับการจ่ายค่าบริหารสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในรายละเอียด ดังนั้นคงต้องรอดูผลจากการเจรจาที่จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเงื่อนไขเดิมที่เคยมีการเจรจาปรับแก้สัญญาหรือไม่ และจะมีผลต่อการแก้ไขรายละเอียดสัญญาใหม่อย่างไร