เกษตรเร่งปลดพันธนาการ“ ไอยูยู” เก็บภาษีนำเข้าฟื้นราคาสินค้าสัตว์น้ำ
ธรรมนัส ยันเร่งแก้กฎหมายผลกระทบจากไอยูยูต่อภาคการประมงไทย รับห่วงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากปัจจัยสินค้าน้ำเข้า เตรียมเก็บภาษีนำเข้าหวังสร้างความเท่าเทียบผลิตภัณฑ์ประมงไทย
KEY
POINTS
- พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ส่งผลกระทบกับ ภาคการประมงของไทย
- วันที่ 7 มี.ค.2567จะหารือเรื่องภาษีนำเข้าสัตว์น้ำ เพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน ก่อนเสนอ ครม. เพื่อออกประกาศกฎกระทรวงเกษตรฯ เริ่มเก็บภาษีให้เร็วที่สุด โดยคาดทว่าจะเก็บประมาณ 0.05 %หรือประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท
- สถาบันการเงินระบุให้อาชีพประมงมีความเสี่ยงสูง ทำให้ปัจจุบันกลุ่มชาวประมงขาดเงินลงทุน
ผ่านมาไทยถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าสมุทรของโลกด้วยความเก่งกาจด้านการทำประมง ทุกน่านน้ำต้องมีเรือไทยลอยลำอยู่ แต่ความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อหยุดยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ทำให้ปัจจุบันภาคการประมงของไทยได้รับผลกระทบจนสิ้นเนื้อประดาตัว
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลิกฟื้นประมงไทย สู่การเป็นเจ้าสมุทรในกติกาสากลโลก” เนื่องในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ.2567 สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการป้องปรามการทำประมงผิดกฎหมาย ด้วยการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 แต่การออกกฎหมายทั้งกฎหมายหลักและกฎหมายรอง จนส่งผลกระทบกับ ภาคการประมงของไทย
ดังนั้นเพื่อผ่อนคลายอาชีพประมงทะเล ตลอดห่วงโซ่ กระทรวงเกษตรฯได้ออกกฎหมายลำดับรอง 8 ฉบับ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วอย่างไม่มีผู้ใดคัดค้าน ด้วยเพราะทุกคนเล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยอยากให้หลับตาและนึกถึงชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ในสภาพสมัยก่อนที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับ ประมงไทยถือเป็นเจ้าสมุทร ทำรายได้มหาศาล แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อุปสรรคกฎหมายมาบังคับไม่ให้ชาวประมงอยู่รอดได้ มีหนี้สินและคดีความติดตัว ยืนยันว่ากฎหมายทั้ง 8 ฉบับจะช่วยให้ภาคการประมงของไทยสามารถประกอบอาชีพได้ตามวิถีชีวิตเดิมที่ผ่านมา
ห่วงราคาสัตว์น้ำตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม ภาคการประมงของไทยยังมีเรื่องน่ากังวล ในกรณีของสินค้าสัตว์น้ำราคาตกต่ำ ซึ่งจากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ โดยเฉพาะจำพวกวัตถุดิบซุริมิ ประเทศไทยได้ยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0 ทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำในประเทศที่มีต้นทุนสูงกว่า ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล เห็นชอบเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ซึ่งเรื่องนี้ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
“ ในวันที่ 7 มี.ค. นี้จะหารือเรื่องภาษีอีกครั้งเพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บทที่ชัดเจน หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อออกประกาศกฎกระทรวงเกษตรฯ เริ่มเก็บภาษีให้เร็วที่สุด โดยคาดว่าจะเก็บประมาณ 0.05 %หรือประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท เข้าใจว่าต้นทุนผู้ประกอบการอาจจะสูงขึ้น แต่ วิธีการนี้จะทำให้ชาวประมงสามารถขายสินค้าได้ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันเพื่อให้เราอยู่รอดได้ทั้งระบบ อย่างที่ผ่านมาการนำเข้าทูน่าเพื่อแปรรูปแล้วส่งออก ทำให้ไทยขาดดุลกว่า 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยที่ประมงไทยไม่ได้อะไรเลย อันนี้น่าเสียดาย“
เร่งเก็บภาษีนำเข้าสัตว์น้ำ
หากการเก็บภาษีนำเข้าสัตว์น้ำดังกล่าวสร้างผลกระทบทำให้ได้สินค้าที่แพงเกินไป อันนี้ต้องมาหารือเพื่อ ปรับแก้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากสิ่งที่อยากจะเห็นจากนี้ไปคือ ภาคประมงไทยต้องเข้มแข็ง โดยการนำเข้าสามารถทำได้แต่ต้องนำเข้ามาอย่างสมดุลกับผลผลิตในประเทศและความต้องการใช้ อย่าทุ่มตลาดอย่างทุกวันนี้เพราะส่งผลให้ชาวประมงอยู่ยากและเป็นหนี้สิน
นอกจากนี้ปัญหาที่สืบเนื่องมาจาก พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 คือมีเรือเกยแห้งค้างอยู่ในขณะนี้ 1,007 ลำ ซึ่งครม. เห็นของให้ตั้งกองทุนให้รัฐบาลซื้อเรือเหล่านั้นไม่ให้ทำประมงอีกต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอขอใช้งบประมาณปี 67 หากผ่านวาระ 2 ของรัฐสภาฯได้ก็จะสามารถดำเนินการซื้อได้ทันที
สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับชาวประมงนั้นจะนำไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องนี้สำคัญมากเพราะหากไม่มีงบประมาณ ภาคการประมงก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่สะสมมานานเกือบ 9 ปี โดยวิกฤติไอยูยู จากการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้เรือประมงจาก 12,000ลำเหลือในขณะนี้เพียง 7,500 ลำเท่านั้น เนื่องจากไม่มีอนาคต
ขอช่วยสภาพคล่องชาวประมง
“จากสมาชิกผู้แทนราษฎร ทั้ง 413 คน ที่ลงมติเห็นด้วยกับร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติม พรก.การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ... พรบ. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประมงฯ เมื่อวันที่22 ก.พ. 2567 ทำให้ชาวประมง มีความหวังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย จะสามารถพลิกฟื้นประมงไทย สู่การเป็นเจ้าสมุทรในกติกาสากลโลก ได้อย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมยังมีปัญหาที่ต้องเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไข ประกอบด้วยเรื่องปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำเรื่องโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (น้ำมันเขียว)เรื่องความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายลำดับรองเรื่องปัญหาการใช้แรงงานในภาคประมงเรื่องการนำเรือออกนอกระบบและเรื่องโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคการประมงขาดสภาพคล่องมาก เรือหลายลำไม่สามารถออกทำประมงได้ อีกทั้ง กฎหมายไอยูยู
ทำให้ทางสถาบันการเงินระบุให้อาชีพประมงมีความเสี่ยงสูง จึงไม่กล้าปล่อยกู้ ในขณะเดียวกันรัฐบาล มีกองทุนสินเชื่อเพื่อ
เสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมง 5,000 ล้านบาท โดยจะใช้เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ซึ่งจะหมดอายุในเดือน ต.ค. 2573 แต่ชาวประมงผ่านเงื่อนไขเพื่อให้ใช้เงินในกองทุนนี้เพียง 1,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น
ที่เหลือไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่ผู้ที่ได้รับการส่งเสริม มีเงื่อนไขต้องให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือ บสย.ค้ำประกันโดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2.5 % ดังนั้น ชาวประมงที่ได้รับสินเชื่อนี้ แท้จริงแล้วจะได้รับการอุดหนุนดอกเบี้ยเพียง 1.5 % เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ อยากให้รัฐบาล พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการอุดหนุนดอกเบี้ยให้เป็น 4% จึงจะทำให้ชาวประมงได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริง