เศรษฐา นำรัฐมนตรีร่วม 'เที่ยวใต้ สุดใจ' หนุนท่องเที่ยวปัตตานี ยะลา นราธิวาส
เร่งบูรณาการกระตุ้นท่องเที่ยว 3 จังหวัดศักยภาพภาคใต้ “ปัตตานี - ยะลา – นราธิวาส” สู่เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ททท.เดินหน้า 5 กลยุทธ์บูมท่องเที่ยวในพื้นที่ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 20%
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมกิจกรรม “เที่ยวใต้ สุดใจ” ในวันที่ 27 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
เพื่อบูรณาการวางแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี - ยะลา – นราธิวาส โดยนายกรัฐมนตรีเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพเติบโตทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสูง พร้อมเร่งสร้าง
ดีมานด์ทางการท่องเที่ยวผ่านการส่งเสริมกระแสท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และผลักดันด้านการคมนาคม รวมถึงมาตรการการตรวจคนเข้าเมืองให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ
ทั้งนี้ภารกิจในช่วง 3 วันที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวทั้งเชิงพหุวัฒนธรรม พบปะชุมชนท่องเที่ยว ชมการแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงสำรวจศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร อาทิ ชิมอาหารฮาลาลเมนูเอกลักษณ์ของทั้ง 3 จังหวัด เพื่อวางแนวทางในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ชมการเพาะเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลและปลาพลวงชมพู ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจของอำเภอเบตง พร้อมเร่งผลักดันทั้งทุนการวิจัยและการขยายพันธุ์เตรียมพัฒนาเข้าสู่ตลาดโลก เข้าชม
แหล่งท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Net Zero และเข้าเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวสายศรัทธา อาทิ มัสยิดกรือเซะ ศาลหลักเมืองปัตตานี ศาลหลักเมืองยะลา ศาลเจ้าเล่งจูเกียง มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส (พุทธอุทยานเขากง)
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ ยังสวมใส่ผ้าลายพื้นเมืองและลายประจำแต่ละจังหวัด ตลอดระยะเวลากิจกรรม ได้แก่ “เสื้อลายชบาปัตตานี" ลายพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาฯ และเป็นลายผ้าประจำ จ.ปัตตานี “เสื้อสีมายา” จ.ยะลา ผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ มีลวดลายผสมผสานเล่าวิถีชีวิตของคนโบราณ 3,000 ปี และ “เสื้อลายเมอนารอ” จากกลุ่ม Saloma Patek ต.ปาดเสมัส อ.สุไหงโก-ลก ผสมผสานอัตลักษณ์ของผ้าพื้นถิ่นกับลายพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยใช้เทคนิคผ้าปาเต๊ะออกแบบซ้อนลายถึง 4 ชั้น สื่อถึงแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ที่หล่อเลี้ยงชาวนราธิวาส ได้แก่ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำตากใบ
โดยในวันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2567) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมยกระดับการท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยกล่าวว่าได้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมากมาย รวมถึงได้วางแนวทางการนำวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก และเตรียมยกระดับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในหลายมิติ อาทิการปรับปรุงด่านศุลกากร การหารือกับฝ่ายความมั่นคงปรับปรุงท่าอากาศยานเบตงให้มีรันเวย์ยาวขึ้น และ
การขยายด่านชายแดน ยกเลิก ตม.6 เพื่อให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังกล่าวถึงความประทับใจของการได้มาร่วมกิจกรรม “เที่ยวใต้ สุดใจ” ครั้งนี้ และรัฐบาลจะกลับมาเยี่ยมเยียนอีกครั้งภายในปี 2568 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว อาหารถิ่น และของที่ระลึก รวมทั้งมีกิจกรรมประเพณีที่น่าสนใจต่อการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดย ททท. พร้อมต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตามแนวทางที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
5 กลยุทธ์ดันท่องเที่ยว 3 จังหวัด
สำหรับแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว ในปี 2567 ททท. พร้อมดำเนินภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1.การส่งเสริมการตลาดผ่าน 3 แคมเปญหลัก ได้แก่ “โครงการ Amazing Healing Powers of Deep South” “โครงการเที่ยวนี้มีรักษ์ @นรา ยะลา ตานี” “โครงการ Explore Narathiwat Yala Pattani 3 จังหวัด ไม่ไป-ไม่รู้”
2. การกระตุ้นการเดินทางกับสายการบินในประเทศ โดยจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง หรือเมืองหลักเชื่อมโยงเมืองรอง ประกอบด้วย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ 15 มีนาคม – 15 มิถุนายน 2567 สายการบินไทยแอร์เอเชีย 1 พฤษภาคม – 1 กรกฎาคม 2567
3. การจัดงานส่งเสริมการขาย “Amazing Thailand เที่ยวดี-ของเด็ด 3 จังหวัดชายแดนใต้” ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐจัดงานส่งเสริมการขาย Consumer Fair ในรูปแบบ B2C นำสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของสามจังหวัด มาเสนอขายนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ
4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อย่างต่อเนื่องภายใน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2567” ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยจะจัดแสดงหมู่บ้านภาคใต้ สู่เมืองพหุวัฒนธรรมด้วยแลนด์มาร์คจำลองบรรยากาศ “หอนาฬิกาเบตง” จำลองเรือนไทยทรงปั้นหยาได้รับแรงบันดาลใจจาก “วัดชลธาราสิงเห”
5. การต่อยอดประชาสัมพันธ์จาก ยูเนสโก ประกาศให้ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ยะลา เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของโลก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผลงานเด่นที่ทำให้ได้รับเลือก โดยสอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs
ทั้งนี้ ททท. ตั้งเป้าหมายว่า ภายใต้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งผ่านโครงการต่างๆ ของพันธมิตรจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในปี 2567 นี้ จะส่งเสริมให้ ททท. สามารถผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่พื้นที่จังหวัดปัตตานี - ยะลา – และนราธิวาส ให้เติบโตจากปี 2566 ได้มากถึง ร้อยละ 20 อย่างแน่นอน