หนี้ครัวเรือนไฟลามทุ่งเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์
หนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาภัยเงียบที่สะสมมายาวนาน แต่เพิ่งมาตื่นตัวตอนตัวเลขมันแตะร้อยละ 80 ของ GDP ในปี 2556 แตะร้อยละ 90 ของ GDP
ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิดโควิด-19 ปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 90.9 ของ GDP คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน เป็นพฤติกรรมทางการเงินของผู้กู้ ที่ไม่สามารถชำระหนี้ที่ตัวเองก่อไว้ได้
เรื่องนี้จึงไม่เคยถูกสถาปนาขึ้นเป็นเหตุแห่งวิกฤตเศรษฐกิจมาก่อน ผมจึงตั้งคำถามชวนคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่วิกฤตเศรษฐกิจอาจจะมาในรูปแบบของภัยเงียบที่สะสมเรื้อรังมานาน ลุกลามเป็นปัญหา
“เศรษฐกิจระดับครัวเรือน” ทำลายศักยภาพของเศรษฐกิจครัวเรือน และกัดกร่อนเศรษฐกิจฐานราก มากกว่าที่จะจะผูกขาดคำว่าวิกฤตไว้กับปัญหา “เศรษฐกิจมหภาค” แต่เพียงฝ่ายเดียว? เพื่อตอบคำถามนี้ ผมเลยใช้ข้อมูลเศรษฐกิจจุลภาค ที่เก็บข้อมูลลึกระดับรายคน รายบัญชี มาวิเคราะห์ได้ 5 ข้อ ดังนี้
1.หากดูสถิติย้อนหลังสัก 10 ปี ตั้งแต่ 2556 ถึงปัจจุบัน จะพบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไตรมาสละ 1.7 แสนล้านบาท หรือขยายตัวเฉลี่ยไตรมาสละร้อยละ 5.8 ต่อปี ในขณะที่ GDP ที่ไม่หักเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นไตรมาสละ 3 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเฉลี่ยไตรมาสละร้อยละ 3.5 ต่อปี เท่านั้น
และถ้าดูอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของหนี้ครัวเรือน 4 ไตรมาสล่าสุด จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และ GDP ที่ไม่หักเงินเฟ้อปี 2566 โตที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี
ข้อนี้สะท้อนว่า หนี้ครัวเรือนโตเร็วกว่า GDP แน่นอน ถ้าเราไม่ทำอะไร หรือถ้าใช้ GDP ที่แท้จริง ขจัดผลของเงินเฟ้อไปแล้ว ยิ่งโตช้ากว่าหนี้ครัวเรือนมากขึ้นไปอีก
2. จากข้อ 1 ถ้าลากเส้นตรงไปเรื่อย ๆ ด้วยอัตราการขยายตัวเท่ากับ 4 ไตรมาสล่าสุดของทั้งหนี้ครัวเรือนและ GDP เราอาจจะเห็นหนี้ครัวเรือนแตะ 18 ล้านล้านบาท ภายในปี 2567 แตะ 20 ล้านล้านบาท ต้นปี 2568 แตะ 22 ล้านล้านบาท ปลายปี 2568 และมีโอกาสแตะ 24 ล้านล้านบาท ภายในปี 2569
ซึ่งนั่นจะทำให้หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนร้อยละ 100 ต่อ GDP พอดี (ซึ่งตัวหารคำนวณโดยใช้ผลรวมของ Nominal GDP 4 ไตรมาสย้อนหลัง) ข้อนี้สะท้อนว่า หากปล่อยไปตามยถากรรมอีกไม่เกิน 3 ปี เราจะมีหนี้ครัวเรือนเท่ากับ GDP ซึ่งผมอยากให้สิ่งที่ผมคำนวณผิด
3. ทีนี้มาดูหนี้เสีย หรือที่เขาเรียกว่า NPL และหนี้ที่กำลังจะเสีย หรือที่เขาเรียกว่า SM บ้าง ต้องอธิบายคร่าว ๆ ก่อนว่า NPL และ SM ผมใช้ข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพราะมีความครอบคลุมจำนวนสถาบันการเงินมากกว่าของธนาคารแห่งประเทศไทย
และหลักการนับว่าเป็น NPL ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จะขีดเส้นที่ 90 วัน ถ้าเกิน 90 วัน ถือเป็น NPL แต่ถ้ายังไม่เกิน 90 วัน แต่เกิน 30 วันแล้ว ก็จะถูกนับเป็น SM ฉะนั้น ผมจะใช้ฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่เปิดเผยตามหน้าสื่อไปแล้วเป็นหลักในการวิเคราะห์
4. สัดส่วนของหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม อยู่ในระดับสูงมาตลอด 10 ปี หากตัดตอนเอาตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่เกิดโควิด-19 จนถึง ไตรมาส 4 ปี 2566 สัดส่วนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.2 และถ้าเอาเฉพาะ 4 ไตรมาสของปี 2566 พบว่า สัดส่วนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี
และหากเจาะลงไปดูอัตราการขยายตัวของหนี้เสีย ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2566 จะพบว่า หนี้เสียเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ต่อปี มาจากหนี้เสียรถยนต์ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 28.0 ต่อปี หนี้การบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวร้อยละ 12.0 ต่อปี และหนี้บัตรเครดิตขยายตัวร้อยละ 11.9 ต่อปี
ถ้านับเป็นจำนวนบัญชีที่เกิดหนี้เสียพบว่ามีถึง 7.2 ล้านบัญชี จาก 9.8 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสียแล้ว ข้อนี้สะท้อนว่า สัดส่วนหนี้เสียยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจในปี 2566
แปลความได้ว่า หนี้ครัวเรือนว่าโตเร็วกว่า GDP แล้ว หนี้เสียยังโตเร็วกว่าหนี้ครัวเรือนอีก และอาจจะโตมากขึ้นในยามที่เศรษฐกิจยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว
5. ส่วนหนี้ที่กำลังจะเสีย ประมาณ 6 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.8 ต่อปี ไส้ในพบว่า เกิดจากการขยายตัวของหนี้บ้านถึงร้อยละ 31.1 ต่อปี หนี้การบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวร้อยละ 24.1 ต่อปี หนี้อื่น ๆ
เช่น รถจักรยานยนต์ สหกรณ์ นาโนไฟแนนซ์ เช่าซื้อ เป็นต้น ขยายตัวร้อยละ 22.6 ต่อปี หนี้รถยนต์ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี ถ้านับเป็นจำนวนบัญชี พบว่ามีจำนวนเกือบ 2 ล้านบัญชี จาก 2.2 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้กำลังจะเสีย
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า อัตราการเปลี่ยนสถานะจากหนี้กำลังจะเสียเป็นหนี้เสียนั้น สูงมากในกลุ่มหนี้การบริโภคส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน และหนี้รถยนต์ ข้อนี้สะท้อนว่า หากหนี้กำลังจะเสียขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก และมีอัตราการเปลี่ยนสถานะจากหนี้กำลังจะเสียเป็นหนี้เสียสูงมาก จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนเข้าไปอีก
จากการวิเคราะห์ทั้ง 5 ข้อนี้ ได้ข้อสรุปว่า GDP ฟื้นตัวช้า ในขณะที่หนี้ครัวเรือนโตเร็วกว่า แต่หนี้ครัวเรือนก็ยังโตช้ากว่าหนี้เสีย และหนี้เสียที่ว่าโตอย่างรวดเร็วแล้ว ยังขยายตัวช้ากว่าการขยายตัวของหนี้ที่กำลังจะเสีย
หมายความว่า ไฟที่กำลังลามทุ่ง มีโอกาสที่จะโหมกระพือมากขึ้น แรงขึ้น และลุกลามเร็วขึ้น และอย่าลืมว่าขณะนี้เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคไปครึ่งตัวแล้ว จึงมีโอกาสสูงที่คนจะเป็นหนี้มากขึ้น เพราะรายได้โตไม่ทันรายจ่าย ที่น่ากลัวคือการกู้หนี้นอกระบบที่ยังไม่มีข้อมูลว่ายอดหนี้นอกระบบโตขนาดไหนแล้ว
ดังนั้น คำตอบของผมก็คือ หากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าหนี้ครัวเรือนไปเรื่อย ๆ หนี้เสียขยายตัวในระดับสูงไปเรื่อย ๆ คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้น คนจน คนรายได้น้อย และคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน บ้าน รถ ต้องถูกยึด ขายทอดตลาด เป็นบ้านมือสอง รถมือสอง เปรียบเสมือนไฟลามทุ่งที่อาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจระดับครัวเรือนได้
อย่าลืมว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทยทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมาในรูปแบบเดิมเลยสักครั้ง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด