‘เครดิตบูโร‘ ชี้ หนี้ครัวเรือนไทย อยู่ในจุด..อันตราย

‘เครดิตบูโร‘ ชี้ หนี้ครัวเรือนไทย อยู่ในจุด..อันตราย

เครดิตบูโรชี้ หนี้ครัวเรือนไทย ระดับกว่า 90% เป็นจุดอันตราย พบ ‘เจนวาย - เจนเอ็กซ์’ ค้างชำระมากสุด “สินเชื่อ” ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างใกล้สูงสุดประวัติการณ์ 6.1 แสนล้าน

ภาพหนี้ครัวเรือนไทย วันนี้ในระบบอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท ราว 91% ต่อจีดีพี ดังนั้นถามว่า อันตรายหรือยัง หากเทียบกับนานาประเทศ ที่เข้าใช้กันเกิน 80% ถือว่าเป็นระดับที่ “อันตราย” ของเรา 91% นอกจากอันตรายแล้ว ยังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว”


นี่คือ คำกล่าวของ “สุรพล โอภาสเสถียร" ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ที่ฉายภาพ “หนี้ครัวเรือนไทย” ในปัจจุบัน ว่า เป็นสิ่งที่น่าห่วง และเป็นภาพที่เรียกว่า “อันตราย” เพราะสะท้อนภาพ “หนี้ครัวเรือนไทย” ที่วิ่งเร็วต่อเนื่อง จากอัตราการเติบโตต่อปีที่วิ่งไปที่กว่า 3%

ในขณะที่ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี เติบโตได้เพียง 1.8% หรือไม่เกิน 2% ในปีนี้ ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ดังนั้น การทำให้ “หนี้ครัวเรือน” ลงไปอยู่ในระดับที่ 80% ถือว่า  “ไม่ง่าย”

‘เครดิตบูโร‘ ชี้ หนี้ครัวเรือนไทย อยู่ในจุด..อันตราย หากแยกดูเฉพาะสินเชื่อที่อยู่บนฐานข้อมูลของ “เครดิตบูโร” ที่มีสินเชื่อรวมที่ 13.7 ล้านล้านบาท และมี 3 ก้อนที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สินเชื่อค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน ที่เรียกว่า SM และสินเชื่อที่อยู่ระหว่างการ

ปรับโครงสร้าง (TDR) ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง “หนี้เสีย” วันนี้กลับมาทะลุ 1.05 ล้านล้านบาท ในสิ้นปี 2566 ที่ 28% 

เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อบ้านอีก 1.8 แสนล้านบาท เติบโตเช่นกันที่ 7% และสินเชื่อบุคคล 2.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และบัตรเครดิตอีก 6.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 11.9%

ที่น่าห่วงที่สุด ในมุมของเครดิตบูโรคือ สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน วันนี้สินเชื่อรถเข้ามาสู่ช่วง “ฝีแตก” มีคนจำนวนมากผ่อนรถไม่ไหว และปล่อยให้รถถูกยึด ทำให้วันนี้ มีรถเข้าสู่ตลาดประมูลถึง 2 แสนคัน แม้จะไม่สูงเท่ากับตอนที่มีนโยบายรถคันแรกที่มีรถถูกยึด และเข้าสู่การประมูลถึง 3 แสนคัน แต่รถยึดระดับ 2 แสนคันถือว่าไม่น้อย 

อีกก้อนที่น่าห่วงไม่แพ้กัน และความเป็นห่วงเริ่มมากขึ้น นั่นคือ สินเชื่อ “บ้าน” ที่มีพอร์ตหนี้เสียถึง 1.8 แสนล้านบาท เติบโตถึง 7% แปลว่า มีบ้านที่กำลังจะถูกยึดถึง 1.8 แสนหลัง ! ในระยะข้างหน้า หากไม่สามารถแก้ปัญหาในการชำระหนี้ได้

หากมาดูในด้านของ SM หนี้ที่ค้างชำระ วิ่งไปอยู่ที่ 6.12 แสนล้านบาท จากที่เคยสูงสุดที่ 6.5 แสนล้านบาท บ้าน กับรถ น่าห่วงมากกว่า หนี้เสีย สะท้อนว่ากำลังมีหนี้ที่กำลังจะเสียจาก บ้าน และ รถ รออยู่อีกมากในระยะข้างหน้า

โดยเฉพาะ SM จากสินเชื่อบ้าน ที่มีเกือบ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 31% และในหนี้ 1.2 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อบ้าน ที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่มาจากกลุ่มที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่เป็นกลุ่มรายได้ปานกลาง และรายได้น้อย ที่ส่วนใหญ่อยู่กับธนาคารรัฐ นอกจากนี้ ยังมี SM จาก สินเชื่อรถ อีก 2 แสนล้านบาท เติบโต 7.6%

อีกตัวที่วิ่งเร็วมาโดยตลอด คือ สินเชื่อไม่มีหลักประกัน 1.45 แสนล้านบาท ที่เป็นสินเชื่อเงินก้อนผ่อนเป็นงวด ที่อัตราการโตเพิ่มขึ้นเรื่อยที่ 24% ที่น่าห่วงขึ้นเรื่อยๆ

“หนี้เสีย” บ้าน รถ อยู่กลับกลุ่มไหนมากที่สุด? หลักๆ อยู่ใน กลุ่มเจนวาย (Gen Y) ที่อายุช่วง 26-40 ปี และ กลุ่มเจนเอ็กซ์ (Gen X) อายุช่วง 44-43 ปี เจนวาย เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระ “รถ” มากที่สุด ทั้งในแง่บัญชี และจำนวนเม็ดเงิน โดยเจนวายเป็นหนี้เสีย 4 แสนบัญชี คิดเป็น 1.24 แสนล้านบาท ขณะที่เจนเอ็กซ์ มีหนี้เสีย 2.42 แสนบัญชี หรือ 7.3 หมื่นล้านบาท ทั้งสองกลุ่ม คิดเป็นกว่า 6 แสนบัญชี หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ที่เป็นหนี้เสีย

ยังไม่นับหนี้ค้างชำระ ที่กำลังเลี้ยงงวดวันต่อวันไม่ให้ไหลไปเป็นหนี้เสียอีก 3 แสนบัญชี หรือ 1.1 แสนล้านบาท สำหรับเจนวาย และ 1.7 แสนบัญชี 6.3 หมื่นล้านบาท ที่กำลังจะไหลไปเป็นหนี้เสีย รวมมีหนี้ค้างชำระจาก 2 กลุ่มนี้ ที่ 4.7 แสนบัญชี วงเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท

“บ้าน” มีหนี้เสียที่มาจากเจนวาย 7.6 หมื่นบัญชี หรือ 1 แสนล้านบาท และเจนเอ็กซ์อีก 4.9 หมื่นบัญชี หรือ 5.9 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสองกลุ่มมีหนี้เสียอยู่ที่ 1.2 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงิน รวมเกือบ 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้ค้างชำระที่กำลังไปเป็นหนี้เสีย 7.3 หมื่นบัญชี หรือ 1.13 แสนล้านบาท และเจนเอ็กซ์อีก 4.5 หมื่นสัญญา หรือ 5.1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสองกลุ่มเป็นหนี้ที่กำลังจะเสียถึง 1.1 แสนสัญญา วงเงินกว่า 1.6 แสนล้านบาท

โอกาสการไหลไปเป็นหนี้เสีย หรือที่เรียกว่า Migration Rate ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า บ้านมีโอกาสไหลไปเป็นหนี้เสียที่ 22% จากหนี้ค้างชำระในกลุ่ม SM ทั้งหมด ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีโอกาสไหลเป็นหนี้เสีย 12% อันนี้วัดเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในระบบ ธปท. แต่หากวัดเช่าซื้อที่อยู่นอกตลาดโอกาสในการไหลเป็นหนี้เสียเชื่อว่ามากกว่านั้นมาก และสินเชื่อบุคคลที่ 54% สินเชื่อบัตรเครดิต 54%

ยกตัวอย่างง่าย หนี้ค้างชำระสินเชื่อบ้านที่ 1.8 แสนล้านบาท โอกาสการไหลไปเป็นหนี้เสียที่ 22% เท่ากับ 3.96 หมื่นล้านบาท ขณะที่รถยนต์ มีโอกาสไหลเป็นหนี้เสีย 2.4 หมื่นล้านบาท

ที่น่าห่วงตลอดมาคือ สินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นเงินก้อนผ่อนเป็นงวด ที่มีโอกาสการไหลไปเป็นหนี้เสีย 7.8 หมื่นล้านบาท จากหนี้ค้างชำระทั้งหมดที่ 1.45 แสนล้านบาท กว่าครึ่งที่โอกาสไหลเป็นหนี้เสีย เช่นเดียวกันบัตรเครดิตที่มีโอกาสไหลเป็นหนี้เสีย 5.2 พันล้านบาท จากหนี้ค้างชำระทั้งหมด ที่ 9.7 พันล้านบาท

ดังนั้น หวังว่าสุดท้ายแล้ว การปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อต่างๆ จะเร่งปรับโครงสร้างได้เร็วพอ เพราะหากทำได้ไม่เร็วโอกาสที่จะเห็น “หนี้เสีย” เพิ่มขึ้นระยะข้างหน้าจะเป็นปัญหาตามมาอีกมาก เพราะ SM ที่กำลังไหลมาเติมมีมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์